แชร์ไอเดียทำเตาอบถ่าน สร้างผลิตภัณฑ์ง่าย ๆ ด้วยตนเอง #สายสร้างอาชีพ
สำหรับบทความนี้ก็จะมาแชร์ไอเดียการทำเตาอบชา หรือเตาอบดอกไม้โดยการใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิงนะครับ จริง ๆ แล้วผมก็ไปถอดแบบมาจากการทำห้องอบฟืนของชาวบ้านอมลอง ที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่นั่นเอง แต่ผมจำลองลงมาให้เล็กและเหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งผลที่ได้คือ เราได้ชาดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และสามารถอบได้ถึงแม้ว่าวันนั้นจะไม่มีแดดก็ตาม
วิธีการทำเตาอบถ่าน
สำหรับขั้นตอนการทำก็ง่าย ๆ ครับ แต่ต้องอาศัยฝีมือช่างชาวบ้านกันสักเล็กน้อย แต่ผมบอกก่อนเลยนะครับว่า ตัวผมเองไม่ได้มีพื้นฐานงานช่างใด ๆ มาก่อน อาศัยครูพักลักจำจากพ่อที่แกมักจะต่อนู่นทำนี่ในตอนเด็ก ๆ แล้วก็มาดัดแปลงให้เป็นแนวทางที่ตัวเองทำได้ ซึ่งแน่นอนว่า ใครที่มีฝีมือทางด้านงานช่าง ย่อมทำออกมาได้ดีกว่าผมแน่นอน
อันดับแรกผมก็เริ่มจากการก่อฐานครับ โดยใช้อิฐมอญก่อ เพื่อที่เราจะใช้ถ่านไม้ในการเป็นเชื้อเพลิงในการสร้างความร้อนให้เตาอบของเรา สามารถกำหนดความยาวความกว้างได้ตามพื้นที่ของแต่ละคน สำหรับผม ทำแค่นี้พอครับ
เมื่อได้ช่องใส่ถ่านไม้แล้ว ก็เอาปูนฉาบปิดครับ พร้อมกับตั้งขอบขึ้นมาเพื่อเตรียมทำเตาอบชาต่อไป ในส่วนของฐานเตานั้น สำคัญที่จะต้องมีจมูกเตาด้วยนะครับ ซึ่งผมเจาะเป็นช่องไว้ทางด้านหลังของเตา และบริเวณจุดรับความร้อน ผมใช้กระทะเหล็กครับ ซึ่งก็หาไม่ได้จริง ๆ เลยเอากระทะขนมครกมาแทน ซื้อที่นครกิโล ราคาสองร้อยกว่าบาท ผมใช้กระทะเหล็กในการกระจายความร้อนจากล่างสู่บนครับ ซึ่งแน่นอนว่า มีการทดสอบจุดไฟ และดูควัน ดูรอยรั่ว อุดรอยรอบด้านอย่างดี เพื่อไม่ให้มีกลิ่นควันไฟเข้าไปรบกวนในเตาอบเด็ดขาด
หลังจากนั้นผมก็ก่อขึ้นมาเป็นเตาตามภาพนะครับ โดยใช้อิฐบล็อคทำ จริงๆ แล้วผมถนัดใช้อิฐมวลเบามากกว่า ก่อง่ายกว่าเย๊อะ แต่ที่นี่มีแต่อิฐบล็อคครับ เลยจำเป็นต้องใช้ ก็พอจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว พอได้ฐานเตา ได้ตัวเตา ก็ต้องหาวิธีปิดด้านบน นี่แหล่ะครับปัญหา ไม่ใช่ช่าง ไม่มีเหล็กมาตัดแล้วจะทำอย่างไร สรุปคือ ผมเอาไม้ไผ่มาตัดเป็นท่อน ๆ แล้ววางด้านบน หลังจากนั้นใช้ดินเหนียวอัดทับ ก่อนที่จะเอาปูนฉาบหนา ๆ อีกรอบ ก็ได้ผลเป็นที่เรียบร้อย
สำหรับฝาปิดด้านหน้าผมใช้ไม้แผ่นมาตอกประสานกัน แล้วทำที่เปิดเปิดครับ ก็เรียกได้ว่าใช้งานได้ดีพอสมควร เพราะชาดอกไม้ที่อบออกมาแล้ว ไม่มีกลิ่นควันหรือกลิ่นไม่พึงประสงเข้าไปรบกวน กลับตรงข้ามคือมีความหอมมาก ๆ และความร้อนก็ได้ตามที่ใจต้องการ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่ปริมาณถ่านที่เราใช้ด้วยนะครับ จึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการใช้งานเป็นตัวบอกว่า ใส่ถ่านประมาณไหน อุณภูมิภายในเตาจะอยู่ที่เท่าไหร่
สำหรับช่องใส่ถ่านนะครับ พอไฟเริ่มติด เราก็สามารถเอาอิฐบล็อคปิดไปได้เลย แล้วไฟจะค่อย ๆ คุไปเรื่อย ๆ จนหมด เราก็สามารถจับเวลาแล้วคอยเติมถ่านได้ ตามแต่วัตถุดิบที่เราจะใช้อบ ซึ่ง ถ้ามีความหนาแน่นมาก ๆ อาจจะต้องเติมถ่านถึง 2 รอบ ถึงจะอบได้แห้งสนิท และจะต้องมีการเปิดดู เพื่อพลิกวัตถุดิบ และสลับชั้นด้วยนะครับ เพราะว่าชั้นล่าง จะเป็นชั้นที่ใกล้ความร้อนที่สุด จะแห้งไวสุดนั่นเอง
ก็จบไปนะครับ สำหรับไอเดียการทำเตาอบแบบง่าย ๆ ไว้ใช้เองที่บ้าน สำหรับบ้านใครที่มีพื้นที่เพียงพอนะครับ พืชผลบางอย่างที่เราปลูกไว้ในสวน สามารถนำมาอบ และทำเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายได้ เป็นหนทางสร้างอาชีพเสริมได้อีกช่องทางหนึ่ง ฝากไว้ครับ เผื่อเป็นไอเดียให้ใครหลาย ๆ คนที่กำลังคิดจะกลับมาทำอะไรสักอย่างที่บ้านเกิด
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น