บันทึกปูมกำเนิดของเหล่าพญานาค "พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ"
ปฐมบท
(บันทึกปูมกำเนิดของเหล่าพญานาค)
“ก่อนทำความเข้าใจกับการถือกำเนิดของพญานาค คงต้องเท้าความถึงนาคทั่วไปเสียก่อน หลายตำนานที่มีการกล่าวถึงนาคที่สมสู่กับคนบ้าง แปลงกายมาหลอกคน สุดท้ายตอนนอนหลับก็กลายร่างเป็นงูบ้าง แต่ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องราวของนาค เราคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “นาค” คืออะไร และ “พญานาค” คืออะไร”
“พญานาค” เป็นการเรียกขานในภพภูมิที่เป็นทิพย์แล้วเท่านั้น
ซึ่งต่างจาก “นาค” ที่คนโบราณกล่าวถึง จะใช้เรียกงูเจ้าที่ หรืองูใหญ่
ที่มีอายุขัยและตบะแก่กล้ามากพอที่จะปรากฏกายเป็นคนบ้าง สร้างภาพลวงตาบ้าง
มีฤทธิ์ขั้นต้นจากการบำเพ็ญเพียรของตน และเมื่อตายไปแล้วจึงจะกำเนิดเป็นพญานาคอีกครั้ง
โดยการถือกำเนิดแบบโอปปาติกะ เสวยทิพยสมบัติ ใกล้เคียงกับเทวดา แต่ยังยึดติดกับภพภูมิเดิมพอสมควร
จึงทำให้ปรากฎกายเป็นพญางูเมื่อเวลาสำแดงฤทธิ์
แล้วงูแบบไหนเล่าที่เข้าตำรา “นาค” งูที่เข้าตำราท่านว่า
เป็นงูที่อุทิศตนแล้วเพื่อการบำเพ็ญ เพื่อให้หลุดพ้นจากเดรัจฉาน
และปรับภพภูมิสู่นาคพิภพ เป็นก้าวต่อไปก่อนที่จะมาถือกำเนิดเป็นมนุษย์ได้ ดังนั้น
ถ้าเราพบเห็นงูใหญ่ตนไหนไม่กินเนื้อสัตว์ กินแต่ไข่ไก่กับอาหารที่มนุษย์มอบให้ ซึ่งงูที่มาขออาหารคนโบราณ
ท่านจะเรียกงูเหล่านั้นว่า “นาค” ก่อนที่จะเข้าสู่สภาวะจำศีลจนขาดอาหารตาย
และดวงจิตถือกำเนิดเป็นพญานาคนั่นเอง ว่ากันว่า ตบะของเหล่านาคจะอยู่ที่กลางหน้าผาก
เมื่อตบะแก่กล้าจะเกิดเป็นหงอนขึ้น และจะหวงแหนหงอนของตนมาก
หล่มภูเขียว
ลำปาง เชื่อว่าเป็นวังบาดาล |
การถือกำเนิดของนาคก่อนที่จะเป็นพญานาค ซึ่งถูกอ้างอิงไปตามกำเนิด
๔ ประการ อย่างที่หลายคนพอจะทราบอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเราพิจารณาให้ดี
การกล่าวถึงกำเนิดทั้งสี่ประการ หมายถึงการเกิดของสัตว์โลก
จะด้วยเหตุผลกลใดที่นำมาเชื่อมโยงสอดคล้องกับกำเนิดของนาคนั้น
ก็มีเหตุปัจจัยที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม เพราะการสืบทอดเรื่องราว
ไม่ว่าจะอ้างอิงจากพระไตรปิฎกอย่างไร มักจะถูกผู้ถ่ายทอดบิดเบือนไปตามกาลเวลา
และสถานที่เสมอ
(1) อัณฑชะ คือการเกิดในไข่
แน่นอนว่าพญานาคมีปูมกำเนิดจากงู จึงมีความเป็นไปได้สูงในการถือกำเนิดจากไข่ แต่การจะเข้าสู่ภพภูมิพญานาคตามความเชื่อ
จำต้องมีการพ้นจากสภาพของงูเสียก่อน เพราะชาติกำเนิดของงูเป็นปฐม เมื่องูบำเพ็ญตนจึงกลายเป็นนาค
แต่ก็ยังไม่ใช่พญานาค เราจะเห็นงูใหญ่ที่เข้าลักษณะนาคอยู่เพียงไม่กี่ชนิด เช่น
งูจงอาง, งูเขียวกาบหมาก เป็นต้น
งูเหล่านี้จะจำศีลในถ้ำ หรือในป่าลึก จะมีตบะหรือดวงจิตที่บริเวณหน้าผาก เป็นดวงแก้วประจำตน
และจะกลายเป็นหงอนเมื่อเป็นพญานาค จะสั้น จะยาวแล้วแต่ตบะของตน
เมื่อพ้นภพภูมิเดรัจฉาน ก็สามารถสำแดงฤทธิ์เป็นพญานาคได้ตามกำลังตบะ นาคบางตนที่ถือกำเนิดแบบอัณฑชะ
กล่าวกันว่า หากมีเชื้อสายจากนาคบิดา หรือนาคมารดา ก็จะมีตบะเดชาตั้งแต่กำเนิด
มีฤทธิ์ขั้นต้นตามภูมิกำเนิดของตน และเมื่อถึงเวลาใกล้ปรับภพภูมิ
ก็จะถืออุโบสถศีลเพื่อกลายเป็นพญานาคนั่นเอง
(2) ชลาพุชะ คือการเกิดในครรภ์ หมายถึงการถือกำเนิดจากครรภ์มารดา
พบได้ว่ามีงูหลายชนิดที่ออกลูกเป็นตัวได้เช่นเดียวกัน
และในตำนานของพราหมณ์ฮินดูโบราณก็กล่าวว่า นาคที่สมสู่กับนาคด้วยกัน
ก็จะคลอดออกมาเป็นลูกนาค รวมถึงนาคที่สมสู่กับคน
ก็สามารถที่จะคลอดออกมาเป็นครึ่งคนครึ่งนาค ซึ่งตำนานนี้หากดูจากข้อเท็จจริงแล้ว
ก็อาจจะเป็นไปได้ยากพอสมควร เหตุเพราะสารพันธุกรรมแตกต่างกัน อาจจะเป็นเพียงตำนานเท่านั้น
แต่อีกนัยหนึ่งของการถือกำเนิดแบบชลาพุชะก็คือ สัตว์บางชนิดก็ให้กำเนิดนาคได้เพราะเชื่อกันว่า
นาคบางตนได้ฝากลูกของตนไว้กับสัตว์บางประเภท เช่น ช้าง ตามตำนานนาคาคติ
หรือฝากมาเกิดเป็นคนก็ตาม ตามความเชื่อของชนเผ่านาค นั่นหมายถึงการฝากดวงจิตตามภูมิกำเนิดเดิม
ซึ่งเมื่อพ้นจากภพภูมิปัจจุบัน ก็จะถือกำเนิดเป็นพญานาค
หรืออีกนัยคือมนุษย์ใดที่เกิดมาแล้ว มีกรรมผูกพัน มีศรัทธานับถือ
ก็จะอธิษฐานจิตเพื่อให้ตายไปแล้วถือกำเนิดในนาคพิภพเช่นนี้ก็มี
(3) สังเสทชะ คือการเกิดในสิ่งหมักหมม
โคลนตม ซากไม้ เถ้าไคลชุ่มชื้น โลหิต ต้นไม้ ดอกไม้ ฯลฯ การถือกำเนิดแบบนี้เมื่อเกิดแล้วก็จะเป็นนาคทันที
มีฤทธิ์ตามกำลังบุญของตน และเมื่อบำเพ็ญต่อไปหลังละสังขารนาค จึงจะเข้าสู่ภพภูมิพญานาค
เหตุอีกนัยก็หมายถึงมนุษย์ผู้มีจิตศรัทธาอธิษฐานไปเกิดเป็นนาค
แต่ด้วยบุญที่มีกิเลสเจือปนมาก จึงกำเนิดแบบสังเสทชะก็เป็นได้
(4) โอปปาติกะ คือการเกิดขึ้นเองโดยปาฏิหาริย์
เกิดแล้วโตทันที นี่เป็นการกำเนิดเป็นพญานาคโดยสมบูรณ์ เกิดแล้วเข้าสู่นาคพิภพตามความเชื่อทันที
ซึ่งการถือกำเนิดแบบนี้ ท่านว่าเกิดขึ้นเอง เป็นพลังงานที่ก่อตัวหนาแน่น
และคงสภาพได้ แสดงตัวตนได้ สร้างอิทธิปาฏิหาริย์ มีฤทธิ์เดชมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับกำลังตบะ
หรือบุญกรรมเก่าของตน เมื่อครั้งที่ยังบำเพ็ญ อำนาจฤทธิ์นี้ไม่ได้แบ่งตามสีของตระกูลอย่างที่หลายคนเข้าใจนัก
(สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ผู้ศรัทธาแบ่งแยกวรรณะของนาคอย่างสับสน
เหตุผลหนึ่งก็เพราะแนวคิดเรื่องแบ่งชนชั้นวรรณะของฮินดูที่สืบทอดกันมานั่นเอง) พญานาคสามารถแสดงฤทธิ์เป็นพญางูยักษ์มีหงอนหลากสี
มีเกล็ดสวยงามตามชาติกำเนิดของตน ถึงแม้จะมีกายทิพย์ที่ยังยึดติดกับเดรัจฉานภูมิ แต่ก็มีอภิญญาสูง
สามารถจำแลง หรือแฝงกายในสัตว์ได้หลายชนิด เช่น งู ช้าง ม้า วัว หรือคน ฯลฯ
เป็นต้น
“จากตำนานการถือกำเนิดของพญานาค
สรุปได้ว่า ในภูมิเดรัจฉานนั้น ถ้ามีการจำศีล บำเพ็ญเพียร จนเป็นสัตว์ทรงตบะ ละเว้นจากบาปทั้งปวงแล้ว
จะถูกเรียกขานว่า “นาค” ถ้ามีฤทธิ์แล้วใช้ในทางที่ผิด
เมื่อพ้นภพภูมิแล้วจะต้องชดใช้กรรม ไม่อาจจะเข้าสู่นาคพิภพได้ และนาคตนใดก็ตาม เมื่อถือกำเนิดแบบโอปปาติกะแล้ว
จึงเรียกว่า “พญานาค” ซึ่งจะไม่มีกายหยาบ มีแต่กายทิพย์ มีฤทธิ์มาก และจะสำแดงร่างเป็นอะไรก็ได้
ด้วยอำนาจที่เกิดจากตบะสูงส่ง ฤทธิ์ดังกล่าวนี้เรียกว่า “กรรมวิปากชาฤทธิ์”
หรือฤทธิ์ที่เกิดจากวิบากกรรม เหล่าพญานาคในนาคพิภพ จัดเป็นภพภูมิกึ่งเทวดา
แต่ด้วยกรรมเก่าที่เกิดเป็นเดรัจฉาน จึงไม่สามารถไปถึงที่สุดแห่งการบรรลุธรรมได้
พญานาคจึงคอยช่วยเหลือมนุษย์ที่ปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นกุศลกรรม และการถือกำเนิดใหม่มาเป็นมนุษย์ของตนนั่นเอง”
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น