นาคอิราวัต และเทศกาลนาคปัญจมี "พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ"

นาคอิราวัต

การถือกำเนิดของพญานาคอิราวัต

ในมหาภารตะของพระกฤษณะตอนหนึ่ง กล่าวถึงนาคอิราวัต หรือ อิรวัน เป็นโอรสของพระอรชุน (เป็นพี่น้องคนที่สามในบรรดาปาณฑพทั้งห้า และเป็นเพียงคนเดียวที่ได้รับพรกับอาวุธวิเศษจากเทพเจ้ามากที่สุด) กับนางนาคอุลูปี (ในมหาภารตะ มีความเชื่อว่านางนาคสามารถสมสู่กับมนุษย์ได้) เนื่องด้วยนางนาคอุลูปีล่วงรู้ด้วยฌานว่าต่อไปพระสวามีจะต้องทำสงครามกับพี่น้องของตนเอง จึงให้กำเนิดอิราวัตขึ้นมา อิราวัตเป็นนาคที่มีเกล็ดกายสีขาว มีรัศมีเรืองรอง ต่อมาเกิดสงครามทุ่งกุรุเกษตรขึ้น นางนาคอุรูปีจึงได้ส่งนาคอิราวัตกับกองทัพนาคไปช่วยอรชุนผู้เป็นบิดาในการรบ ในวันที่ 8 ของสงครามดังกล่าว อิราวัตได้ต่อสู้กับศกุนิ (ราชาแห่งแคว้นคันธาระ) และอิราวัตได้สังหารน้องชายทั้งหกคนของศกุนิ ทำให้อลัมพุษะที่เป็นรากษส (ยักษ์ร้าย) ของฝ่ายศกุนิ เข้ามาช่วยต่อสู้ อิราวัตก็สามารถต่อกรจนอลัมพุษะรากษสเพลี่ยงพล้ำ อลัมพุษะจึงแปลงกายเป็นนกเหยี่ยวเข้าจิกตีนาคอิราวัต ทำให้นาคอิราวัตได้รับบาดเจ็บ แล้วอลัมพุษะก็ร่ายเวทย์ทำให้ร่างกายของนาคอิราวัตแข็งทื่อ ไม่สามารถต่อสู้ได้ เมื่อได้โอกาสอลัมพุษะก็ใช้ดาบตัดเศียรนาคอิราวัตจนขาดกระเด็น เสียชีวิตกลางสนามรบอย่างสมศักดิ์ศรีของตนเอง ที่ได้ปกป้องอรชุนผู้เป็นพระบิดาอย่างสุดความสามารถ แต่ก่อนที่นาคอิราวัตจะสิ้นชีพนั้น ได้เคยอธิษฐานจิตก่อนออกรบว่า ขอให้ได้แต่งงานสักครั้ง เพราะรู้ชะตาของตนว่าจะต้องพลีชีพในสงครามเป็นแน่ พระกฤษณะเห็นความประสงค์ดังนั้น จึงแปลงกายเป็นหญิงมาแต่งงานกับนาคอิราวัต ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วพระกฤษณะและนาคอิราวัต

ต่างก็เป็นชายทั้งคู่ ตำนานนี้จึงเป็นเหมือนแรงบันดาลใจของเหล่าชายรักชาย ถึงต้นตำนานการถือกำเนิดของนาคอิราวัตนั่นเอง ซึ่งเมื่อนาคอิราวัตสิ้นใจไปแล้วก็ถือกำเนิดเป็นพญานาคอิราวัต มีกายเป็นทิพย์แต่อยู่ในชั้นพื้นพิภพ ไม่ได้มีวิมานบนสวรรค์แต่อย่างใด เพราะบาปกรรมการจากทำศึกสงครามนั้นยึดติดผูกพันต่อผืนที่ร่างของตนดับสูญไปนั่นเอง

จากตำนานเหล่านี้ เราจะเห็นได้ว่า มีการกล่าวถึงและกราบไหว้บูชาพญานาคมาเป็นเวลาช้านาน และนอกจากการกราบไหว้ ก็จะมีพิธีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับงูอีกเช่นเดียวกัน เรียกกันว่า “เทศกาลนาคปัญจมี” ที่จะจัดในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือนศราวณะตามปฏิทินจันทรคติฮินดู ก็ราวช่วงเดือนกรกฎาคม - เดือนสิงหาคม เห็นจะได้ อันความเป็นมาของพิธีนี้ ก็สืบเนื่องจากตำนานของนาคตักษกะอีกนั่นแหละครับ ตามมหาภารตะ พระเจ้าชนเมเชยะ โอรสของพระเจ้าปริกษิตแห่งราชวงศ์กุรุ จัดพิธีสรัปสัตระ หรือพิธีบูชายัญด้วยงู เพื่อแก้แค้นให้บิดาของตนที่ถูกนาคตักษกะฆ่าตาย ด้วยมนต์ที่มีฤทธานุภาพ ทำให้งูทั่วโลกต้องมนและเลื้อยลงกองเพลิงจบชีวิตกันไปมากมาย ร้อนถึงพระอินทร์ที่เป็นสหายกับตักษกะนาคอีกแล้ว ต้องมาช่วยเอาไว้ เมื่อเห็นดังนั้นการท่องมนต์จึงกระทำให้เข้มขลังขึ้น เป็นเหตุให้นาคตักษกะที่พยายามพันตัวพระอินทร์ไว้ก็ไม่อาจทานกำลังได้ ตกลงในกองเพลิงไปพร้อมกับพระอินทร์นั้น “เทวีมนสา” (น้องสาวของพญานาควาสุกรี) เห็นดังนั้นจึงส่งอัสติกะ บุตรชายของตนไปขอร้องให้ยุติพิธีเสียเถิด พระเจ้าชนเมเชยะ เป็นผู้ที่ให้ทานแก่พราหมณ์เป็นนิจ และไม่เคยปฏิเสธทานใด จึงยอมยุติพิธีดังกล่าวนี้ ทำให้พระอินทร์และนาคตักษกะ และบรรดาบริวารนาคทั้งหลายรอดพ้นปลอดภัยมาได้

ด้วยเหตุนี้ ทุกวันขึ้น 5 ค่ำ เดือนศราวณะ พระอินทร์จะจัดพิธีบูชานางมนสาเทวี อันเหตุมาจากการเลิกพิธีสรัปสัตระดังกล่าวนั้นเอง

อีกตำนานหนึ่งก็มีการกล่าวไว้ว่า เทศกาลนาคปัญมี กระทำขึ้นเพื่อการฉลองชัยชนะของพระกฤษณะที่มีต่อพญานาคกาลิยะ คือ เมื่อครั้งที่ทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงไปเล่นตีคลีกับเด็กเลี้ยงวัวคนอื่นใกล้บริเวณแม่น้ำยมุนา เมื่อลูกคลีลอยไปติดกิ่งไม้สูง พระองค์จึงอาสาไปเก็บ แต่บริเวณนั้นเป็นที่อยู่ของ “นาคกาลิยะ” พระกฤษณะพลาดพลั้งพลัดตกต้นไม้ลงไปในแม่น้ำ ทำให้นาคกาลิยะโกรธ แต่ด้วยบุญบารมีของพระองค์ กลับกระโดดโลดเต้นบนศีรษะของนางกาลิยะอย่างสนุกสนาน และปราบนาคกาลิยะได้อย่างง่ายดาย บางตำนานกล่าวไปอีกว่า พระกฤษณะได้ทำการสังหารนาคกาลิยะลงเสียในคราวนั้นก็มี (หลายตำนานเข้าไปอีกนะครับ)

ในเทศกาลนาคปัญมีนี้ เหล่าผุ้คนจะบูชงูในรูปต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น “นวนาค” หรือรูปแกะนาค 9 ตัว หรือสลักบนไม้ หิน แผ่นโลหะก็ทำได้ บางที่จัดพิธีบูชางูจริงที่มีชีวิตเลยก็มี โดยจะมีการถวายนม และเมล็ดข้าวสาร เพราะมีความเชื่อว่า หากงูได้ดื่มนมของใคร ก็จะไม่ทำอันตรายคนในครอบครัวนั้นไปตลอดปี และมีข้อห้ามอีกว่า จะไม่ไถนาในวันดังกล่าวนี้ เหตุก็มาจากความเชื่ออีกแล้วครับว่า มีชาวนาผู้หนึ่งไถนาในวันขึ้น 5 ค่ำเดือนศราวณะ และเกิดความประมาทไปคร่าชีวิตลูกงูบางตัวตายลงไป แม่งูเกิดความแค้นจึงตามไล่กัดทุกคนในครอบครัวของชาวนาผู้นั้นเสียชีวิตทั้งหมด เมื่อตามมาถึงลูกสาวของชาวนาผู้นั้น ซึ่งกำลังทำพิธีบูชานาคโดยการตั้งจอกนมเอาไว้ แม่งูดื่มนมในจอกนั้นแล้วก็คลายความโกรธ จึงมอบน้ำวิเศษเพื่อใช้ชุบชีวิตคนในครอบครัวชาวนาที่ตนเองกัดตายให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง จากความเชื่อเหล่านี้ทำให้งูมีบทบาทและอิทธิพลกับศาสนาฮินดูมาถึงปัจจุบันนี้

หลายตำนานเกี่ยวกับการบูชาสัตว์นั้น ก็เป็นเหตุจากความเชื่อที่ว่า เหล่าเทพเจ้าจะประทานพลังบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของตนผ่านทางสัตว์เหล่านั้น เพื่อให้เป็นตัวแทนของพลังศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่งูถูกปฏิบัติในพิธีต่าง ๆ มาช้านาน เป็นวัฒนธรรมโบราณที่มีการพรรณนาถึงงูว่าเป็นตัวตนของความแข็งแกร่ง และลักษณะการหล่อรูปปั้นงู หมายถึงการกำเนิดใหม่ หรือการตาย การประดิษฐานรูปเคารพของงู ที่ไม่ว่าจะเป็นการแกะสลักบนโขดหิน หรือบูชารูปเคารพด้วยดอกไม้ ไดยา ขนม นม ธูป เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวย การมีชื่อเสียงและความรู้

จากตำนานการถือกำเนิดของเหล่านาคดังกล่าวข้างต้น จึงพอสรุปได้ว่า ต้นตระกูลของพญานาคทั้งหลาย เกิดจากอิทธิฤทธิ์ของพระฤาษีกัสยปเทพบิดร และนางโควีรชัง เป็นต้นตำเนิดแห่งงูทั้งหลายมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์โบราณต่าง ๆ ไม่ว่าจะมหาภารตะหรืออาถรรพเวท และก็เผยแพร่ความเชื่อนี้ไปยังหลายประเทศ เชื่อกันว่า รากเหง้าอารยธรรมต่างมาจากกลุ่มชนที่เรียกว่า อารยัน (Aryan) ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อน เป็นนักรบบนหลังม้า และกวาดต้อนปศุสัตว์ไปทุกที่ เป็นผู้เขียนคัมภีร์พระเวทรุ่นเก่าแก่ที่สุด ก่อกำเนิดในอนุทวีปอินเดีย และกระจัดกระจายไปสู่เอเชียและยุโรป

หลายคนอาจจะสงสัยว่า พระเวทคืออะไรกันแน่ คัมภีร์พระเวทเขียนโดยใคร เรื่องนี้กล่าวกันว่า ในยุคสมัยของการเขียนพระเวทโดยเหล่าพราหมณ์ในลัทธิพราหมณ์-ฮินดูนั้น ถือกำเนิดจากการขับร้องพิธีสวดของชาวอารยัน หรือที่เรียกกันว่า ชาวอินโด-อารยัน ที่มีถิ่นกำเนิดแถบตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียในปัจจุบัน รวมไปถึงแถบภูมิภาคปัญจาบ และที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคาตอนบน (ปัญจาบเป็นดินแดนคาบเอี่ยวของทั้งประเทศอินเดียและประเทศปากีสถาน) พระเวทจึงถือเป็นที่เคารพสักการะของชาวฮินดู โดยในคัมภีร์พระเวท จะใช้ภาษาสันสฤตแบบในการถ่ายทอดเรื่องราว ดังนั้น คัมภีร์พระเวท จึงจัดเป็นงานเขียนที่เก่าแก่ที่สุด ถือกำเนิดก่อนศาสนาคริสต์ และพุทธศาสนานับพันปี

---------------------


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ 
พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ
ดูรีวิวและช่องทางการสั่งซื้อ << คลิก >> 👇



ผู้เขียนอนุญาตให้ Copy หรือ แชร์บทความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ในช่องทางของตัวเองได้ แต่ขอความกรุณาให้เครดิต หรือแนบลิงก์สั่งซื้อหนังสือให้ด้วยจักขอบพระคุณยิ่งครับ

(ไม่อนุญาตให้จัดพิมพ์หรือจำหน่ายในเชิงพาณิชย์นะครับ)


#พญานาค #ความเชื่อเรื่องพญานาค #ตำนานพญานาค #พญานาคลุ่มน้ำโขง #พญานาคประเทศลาว #พญานาคเขมร #ศรีสุทโธนาคราช #อนันตนาคราช #ภุชงค์นาคราช #สุวรรณนาคราช #เมืองสุวรรณโคมคำ #เมืองศรีสัตตนาคนหุต

👇👇👇👇👇👇👇👇

Saiheal Bookstore and Crafts


ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี