พญานาค 4 ตระกูล สำคัญอย่างไร "พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ"
กล่าวกันว่า พญานาคถูกแบ่งออกเป็น 4 ตระกูลด้วยกัน โดยแต่ละตระกูลก็จะมีลักษณะสีสันแตกต่างกันออกไปอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับรูปลักษณ์ของงู หรือพญางูใหญ่ แต่ก็มีความเชื่อที่แตกต่างกันไปมากมาย พญานาคมีอิทธิฤทธิ์ที่เกิดจากผลแห่งวิบากกรรม หรือ “กัมมวิปากชาฤทธิ์” รวมถึงมีการแบ่งชนชั้นวรรณะให้กับเหล่าพญานาคเข้ามาเสริมอีก และมีลำดับตระกูลดังนี้
(1) ตระกูลวิรูปักษ์ (วิ-รู-ปัก) คือ พญานาคที่มีเกล็ดสีทอง
(2) ตระกูลเอราปถ (เอ-รา-ปะ-ถะ) คือ พญานาคที่มีเกล็ดสีเขียว
(3) ตระกูลฉัพพยาปุตตะ (ฉัพ-พะ-ยา-ปุต-ตะ) คือ พญานาคที่มีเกล็ดสีรุ้ง
(4) ตระกูลกัณหาโคตมะ (กัณ-หา-โค-ตะ-มะ) คือ พญานาคที่มีเกล็ดสีดำ
พญานาคทั้ง 4 ตระกูลนี้ ได้ถูกนักเขียนตีความไปมากมายว่า แบ่งออกเป็นระดับชนชั้น ตระกูลวิรูปักษ์ จะเป็นนาคชั้นปกครอง มีวิมานบนสวรรค์ บ้างก็ว่าพญานาคสีเขียวหรือตระกูลเอราปถ จะมีถิ่นที่อยู่ในน้ำ ไม่สูงส่งเท่าตระกูลสีทอง ทำการแบ่งชนชั้นวรรณของพญานาคตามที่ตนเองได้เรียนรู้ศึกษามา ในขณะที่ความศรัทธา ก็นำพาไปสู่ความสับสนลังเล เช่น บางคนที่ศรัทธาพ่อปู่ศรีสุทโธนาคราช ซึ่งแน่นอนว่ามีพระวรกายสีเขียว ในตระกูลเอราปถ ก็จะมองว่า พญาศรีสุทโธมีฤทธิ์เทียบเท่าตระกูลวิรูปักษ์บ้าง เพราะท่านสั่งสมบารมีมานาน อีกกลุ่มที่นับถือพญา มุจลินทร์นาคราช ก็จะมองว่า ท่านจะต้องมีพระวรกายสีทองในตระกูลวิรูปักษ์ ในขณะที่บางกลุ่มก็ให้ข้อมูลว่า ท่านมีเกล็ดสีเทาฮินดู เศียรสีทองบ้าง ซึ่งการถกเถียงกันเรื่องสี เรื่องตระกูลนี้ เป็นอะไรที่จินตนาการกันไปตามคำบอกเล่า หรือเรื่องราวที่อ่านเจอมากกว่า ดังนั้นจึงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ชัดเจน เพราะบันทึกเรื่องราวทั้งหลาย ล้วนมาจากนิมิตของคนในสมัยโบราณทั้งสิ้น ไม่มีหลักฐาน และไม่มีสิ่งยืนยันได้มากเท่ากับปฏิมากรรม หรือภาพวาดเก่า ที่พอจะอ้างอิงได้
การแบ่งตระกูลของพญานาค และการจำแนกถิ่นอาศัย ล้วนแต่ถูกผูกเรื่องราวเชื่อมโยงกันมาเป็นตำนานกล่าวขาน และการแบ่งชนชั้นวรรณะ ก็รับสืบทอดมาจากพราหมณ์ - ฮินดู ทั้งสิ้น แต่เมื่อศึกษาเพิ่มเติมจะพบว่า การแบ่งชนชั้นตามตระกูลของพญานาคราช อาจจะไม่สมเหตุสมผลนัก เพราะพญานาคตระกูล-กัณหาโคตมะบางตน ก็มีฤทธานุภาพไม่ต่างกับตระกูลวิรูปักษ์ ในหลาย ๆ ตำนานอีกเช่นเดียวกันครับ และในขณะที่พญานาคตระกูลฉัพยาปุตตะ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีฤทธิ์น้อยกว่าตระกูลวิรูปักษ์เสมอไป ซึ่งจะเล่าให้ฟังในตำนานการถือกำเนิดพญานาคเวอร์ชันต่าง ๆ ในลำดับต่อไปครับ
---------------------
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ
พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ
ดูรีวิวและช่องทางการสั่งซื้อ << คลิก >> 👇
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น