สงสัยหรือไม่ ทำไมสั่งอาหารผ่านแอพถึงแพงหนักหนาสาหัส สากรรจ์
เวลาที่เราไปซื้ออาหารทั่วไปจานละ 40.- บาท แต่พอสั่งผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ราคาอาจจะตกอยู่ที่จานละ 65.- เลยก็ได้ เป็นเพราะอะไรวันนี้ ผู้เขียนจะมาล้วงลึก ๆ ให้ฟังนะฮะ
เคยขายอาหารครับ และใช้บริการทั้งแอพสีเขียว แอพสีส้ม แอพสีชมพู สำหรับอาหารจานเดียวสมัยนั้นผมขาย 40.- บาท ทะเล 50.- บาท ซึ่งแน่นอนครับ พอเข้าใช้บริการเดลิเวอรี่ เราจะเสียค่าคอมมิชชั่นให้แอพต่างๆ ซึ่งบอกเลยว่า มันเป็นเรื่องน้ำท่วมปาก เพราะแต่ละค่ายจะตั้งกฏแบบว่า "ห้ามบอกลูกค้านะว่าฉันหักเธอ 35%" อะไรประมาณนี้ "แล้วก็ห้ามตั้งราคาหน้าร้านต่ำกว่าราคาที่ผูกขายกับฉันนะ ไม่งั้นบัญชีเดลิเวอรี่ของเธอจะถูกปิด" บลา บลา บลา
บอกเลยนะครับว่า เป็นเรื่องที่ปวดใจมาก แต่ลูกค้าหลายคนก็เข้าใจและยินดีจ่ายเมื่อสั่งผ่านแอพพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ เพราะ เชื่อใจได้ ส่งไวตามเวลา ไม่ต้องลำบากนั่งรถออกไปซื้อ ซึ่งนั่นคือข้อดี
แต่ก็มีลูกค้าอีกมากรายที่มองว่า ทำไมแพงจัง ทำไมได้น้อยจัง วันนี้ผมจะมาคำนวณให้คร่าว ๆ นะฮะ ว่า ทำไมร้านต่าง ๆ ถึงต้องอัพราคา แล้วใครกันแน่ที่รวย พ่อค้าแม่ค้า, คนส่งอาหาร หรือเจ้าของแอพพลิเคชั่น
ตั้งราคาอาหารจานเดียวที่ 65 บาท สมมุติค่ายนี้หักค่าคอม 32% คือหัก 20.80 บาท เท่ากับร้านได้รับเงินจริง 42.- บาท ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจครับที่อาหารจานเดียวจะราคา 55 - แตะ 70 บาท ไปเลยก็มี
ทีนี้ลองมองอีกภาพ เช่น ยำทะเล ซึ่งปกติหน้าร้านจะขาย 100 บาท กุ้งแน่น ปูแน่น แต่พอลงแอพขาย มันต้องอัพไปอีกประมาณ 32 บาทใช่หรือไม่ เพื่อให้ขายได้ราคาเดิม คำตอบคือ ไม่ใ่ช่นะครับ ถ้าขาย 132 บาท จะถูกหัก 42.24 ซึ่งเป็นเหตุที่ร้านอาจจะต้องอัพราคาไปที่ 140-145 บาท เลยทีเดียว (ยิ่งแพงคอมยิ่งโหด) ซึ่ง หากขาย 145 บาท จะถูกหัก 46.40 เหลือรับจริง 98.60 เท่านั้น
ซึ่งนี่แค่ตัวอย่างของค่ายที่ค่าคอมยังไม่ปรับเป็น 35% นะครับ ถ้าปรับแล้วพ่อค้าแม่ค้าก็ลำบาก เพราะต้องอัพราคาให้สูงขึ้นมากเพื่อรองรับคำด่าจากผู้บริโภค โดยที่เจ้าของแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ไม่ยอมเผยตัวตนว่า คุณได้รับค่าคอมไปมากเพียงใด
ยิ่งค่าอาหารสูงขึ้นเท่าไหร่ ค่าคอมยิ่งได้มากเท่านั้น แบบนี้ ใครรวยครับ?
สำหรับคนที่เคยขายอาหารจะรู้เลยว่า กำไรจากการขายอาหารนั้นน้อยมากกกกก ก. ล้านตัว เพราะอะไร? ไหนจะค่าแก๊ส ค่าแรง ค่าวัตถุดิบ โอกาสในการที่วัตถุดิบจะเสีย เน่า ทิ้ง ผักเหี่ยวใช้ไม่ได้ซื้อใหม่ การเก็บวัตถุดิบ ทุกอย่างสำคัญไปหมด ที่พวกนักวิชาเกินทั้งหลายคำนวณราคาอาหารไว้ อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิดหรอกนะฮะ เพราะถึงเวลาทำงานจริง ๆ เรื่องการควบคุมคุณภาพเป็นเรื่องยาก ขนาดร้านแฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ยังต้องตามแก้ปัญหาให้ร้านในเครือไม่จบไม่สิ้นกันเลยทีเดียว --- แค่เขาไม่เล่า ไม่ควรคิดว่าเขาลื่น ---
เอาง่าย ๆ นะครับ อาหารสิ้นคิด คืออาหารที่สร้างกำไรมากที่สุด หลายคนบอกว่า ก๋วยเตี๋ยวบางเจ้าขายชามทิ้งชามยังได้กำไร ฮัลโหล ลองมาทำขายให้ดูหน่อยสิครับ ถ้าไม่ได้ยืนในจุดที่ขายถี่จริง ๆ ขายออกวันละหลักร้อยชาม แนวคิดขายชามทิ้งชามอาจจะไม่ได้ผลก็ได้นะฮะ
ผัดกระเพรา เอาตอนหมูยังไม่ขึ้นราคาโลละ 165 เวลา ใช้ผัดราดข้าว 1 จาน เราจะใช้หมูแบบไม่หวงคือ 1 ขีด ถ้าร้านไหนงก ๆ หน่อยก็ 50 - 80 กรัม ว่ากันไป
- ถ้าใช้ 1 ขีดต้นทุนหมู 16.5 บาท
- ใบกะเพรากำละ 20 บาท ใช้ได้ประมาณ 10 จานแบบบึ้ม ๆ หน่อย ตกจานละ 2 บาท
- พริกกระเทียม 4-5 บาท แล้วแต่สูตรร้าน (พริกโลละเกือบ 200 กระเทียมโลละ 80-100)
- น้ำมันพืช ค่าแก๊ส เอาขี้หมูขี้หมา 2 บาทไปละกัน
- ข้าวสวยหุงสุก + ค่าไฟฟ้า ตกจานละ 5-8 บาท แล้วแต่บ้าน แล้วแต่หม้อ เอาถัว ๆ ไป จานละ 5 บาทไปละกันนะฮะ
อันนี้คิดแบบเล่น ๆ ไม่เป็นจริงเป็นจัง ทุนกะเพราหมูราดข้าวคือ 30 บาท ขาย 40 กำไร 10 บาท
ในมุมกลับกัน ถ้าพ่อค้าแม่ค้า ได้วัตถุดิบราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น และใช้วิธีหมูไก่สับผสม จะสามารถขายผัดกะเพราได้ในราคา 30 - 35 บาท ในตัวกำไร 10 บาทเหมือนเดิม และต้องอาศัยความถี่ จำนวน ปริมาณ ที่เย๊อะ ถึงจะได้กำไรหลักพันบาทต่อวัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่ง่ายครับ ไหนจะสถานที่ ไหนจะฝีมือ ความอร่อย ความสะอาด สารพัดสารเพ ดังนั้น อาชีพขายอาหารส่วนตัวผมมองว่า "ถ้าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้" ครับ
นี่แค่เมนูราดข้าวธรรมดา แล้วคิดถึงเมนูใหญ่ ๆ อย่าง ปลานึ่งมะนาวเอย อะไรเอย บอกเลยครับว่า กำไรไม่ได้เย๊อะ ต้องอาศัยความเก๋าจริง ๆ แล้วยิ่งเข้าระบบส่งอาหารด้วยแล้ว บอกเลยว่า จากจานละ 200.- ต้องตั้งราคา 300 ครับ ถึงจะได้กำไร เพราะถูกหักไปแล้ว 96 บาท ไหวมั๊ย ถามใจเธอดู
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น