Runes ตำนานอักษรรูน และการใช้งานอย่างไรให้ขลัง
ตำนานอักษรรูนและการใช้งานให้ขลัง
เมื่อกล่าวถึงแหล่งกำเนิดของอักษรรูนหลายคนคงพอที่จะทราบที่มาว่าเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับตำนานชาวนอร์ส (Norse mythology) และมีความเชื่อมโยงกับตำนานเทพเจ้าโอดิน (Odin) ของคุรุของชาวสแกนดิเนเวีย ซึ่งแตกต่างจากเทพเจ้าซีอุส หรือซุส (Zeus) นะครับ เพราะเป็นตำนานเทพในฝั่งกรีกโบราณ ส่วนเทพเจ้าโอดินจะขึ้นเหนือไปอีกแถบยุโรปเหนือและในกลุ่มประเทศนอร์ดิก เช่น สวีเดน, นอร์เวย์, เดนมาร์ก, ไอซ์แลนด์, ฟินแลนด์ เป็นต้น(คำว่า Runes (รูนส์) หลายชิ้น หรือ Rune (รูน) ชิ้นเดียวตามหลักไวยากรณ์ Eng. ผู้เขียนขอใช้คำไทยว่า “รูน” เพียงอย่างเดียวภายในเนื้อหานี้นะครับ)
ตำนานนอร์สนั้นถูกกล่าวถึงในเชิงลัทธินอกรีด หรือนอกศาสนา เพราะเมื่อคริสตจักรได้เข้าไปมีบทบาทในแถบสแกนดิเนเวีย การนับถือเทพเจ้าจึงกลายเป็นเรื่องงมงาย เป็นพ่อมด แม่มด หมอผี และถูกกวาดล้างไปในห้วงเวลาหนึ่ง ตำนานที่หลงเหลืออยู่จึงมีศูนย์กลางอยู่ที่เรื่องราวของเหล่าทวยเทพต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับมนุษยชาติอย่างแน่นแฟ้น มีความเชื่อเกี่ยวกับโลกทั้งเก้าที่มีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์อยู่ตรงกลางจักรวาลนั่นคือต้นอิกดราซิล (Yggdrasill) กิ่งก้านของต้นอิกดราซิลนั้นแผ่ขยายไปจนถึงสวรรค์ และเป็นที่จัดประชุมของเหล่าทวยเทพที่เดินทางจากแอสการ์ด (Asgard) ด้วยสะพานบีฟว์รอสต์ (Befrost) คล้ายกับหนังเรื่องธอว์ เทพเจ้าสายฟ้า ที่ปรากฏในทีมอเวนเจอร์ (Avengers) ก็ดึงเอาตำนานเหล่านี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์นั่นเอง
ในบทนี้จะเล่าให้ฟังถึงต้นกำเนิดของอักษรรูนโบราณนี้ ที่เชื่อกันว่าเกิดจากการที่เทพเจ้าโอดินปรารถนาจะล่วงรู้ความลับสูงสุดของจักรวาล จึงทรงทรมานองค์เอง คล้ายกับการทำทุกรกิริยา ด้วยการผูกเท้าข้างหนึ่งไว้กับต้นไม้แห่งชีวิตอิกดราซิล แล้วแทงหอกไปที่สีข้าง ทุกข์ทรมานอยู่เก้าวันเก้าคืนจนสิ้นพระชนม์ (คล้ายกับภาพของไพ่ The Fool ในการ์ดทาโรต์นั่นเอง) แต่เมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้ว พระองค์ก็ทรงฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ และเปี่ยมไปด้วยสติปัญญา ที่จะทรงเรียนรู้อักษรรูนในครานั้น
ต่อมา หลังจากที่เทพเจ้าโอดินทรงเรียนรู้อักษรรูนอันเป็นองค์ความรู้จากภายนอกจนแตกฉานแล้ว จึงนำมาใช้ในการสร้างเวทมนตร์ต่าง ๆ และถ่ายทอดให้เหล่าทวยเทพ จนกระทั่งตกทอดมาสู่มนุษย์ เหมือนกับม้าวิเศษของพระองค์ ก็ถูกสลักฟันด้วยอักษรรูนเช่นกัน จึงทำให้มีความสามารถในการเหาะเหินเดินอากาศไปบนท้องฟ้าเหนือทะเลได้อย่างง่ายดาย กล่าวกันว่าเทพเจ้าโอดินมักจะสวมเสื้อคลุม, หมวกปีกกว้างและถือหอก (สันนิษฐานว่าเป็นต้นแบบของแกนดัล์ฟ พ่อมดขาวในลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ที่ทรงภูมิปัญญาเยี่ยงเทพเจ้า)
เห็นได้ว่าหากความเชื่อเรื่องอักษรรูนนั้นมีต้นกำเนิดมาจากเทพเจ้า อักษรรูนจึงเปรียบเสมือนตราสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์และมีเวทมนตร์ภายในตัว (ถ้าจะเทียบกับอักษรขอมโบราณบ้านเราก็คงไม่แปลกนัก) เป็นวัฒนธรรม ตกทอดมาแต่ยุคโบราณในศาสนาอาซาทรู (Asatru) ซึ่งเป็นศาสนาแบบพหุเทวนิยม คือมีการนับถือเทพเจ้าหลายพระองค์เป็นปฐม พินิจแล้วก็คล้ายคลึงกับมหาเทพสายพราห์ม-ฮินดู ที่เรารับมาจากอินเดีย ต่างกันที่ตำนานความเชื่อครับ
ชาวนอร์สที่เรารู้จักกันในลักษณะของชนเผ่าไวกิ้ง ที่บุกเบิกล่าอาณานิคม รวมถึงสงครามระหว่างคนหัวเก่าที่นับถืออาซาทรู กับคริสตจักรที่เริ่มแผ่ขยายไปโซนเหนือ จนกระทั่งต่อมาคริสตจักรได้กลืนกินสแกนดิเนเวียแทบทั้งหมด ในยุคกวาดล้างอาซาทรูโดยกษัตริย์ที่เปลี่ยนศาสนาเป็นชาวคริสต์
ที่เห็นได้ชัดเจน เช่น พระเจ้าโอลาฟ ทริกก์วอซัน (Olaf Triggvason) เจ้าครองนครนอร์เวย์ ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 สั่งประหารชาวนอร์เวย์ที่นับถือ อาซาทรูเป็นจำนวนมาก ด้วยวิธีการประหารที่โหดร้ายทารุณ ไม่ว่าการใช้งูพิษกัดที่ลำคอ หรือทรมานด้วยถ่านไม้ที่ลุกโชนด้วยไฟบนร่างกายมนุษย์ แค่คิดภาพก็น่าหดหู่ใจอย่างมากนะครับ แต่กระนั้นก็มีกษัตริย์บางพระองค์ที่ช่วยรักษาลัทธิอาซาทรูให้หลุดรอดจากหายนะมาได้เช่น พระเจ้ายาร์ล ฮาร์คอน ซิเกอร์ดสัน (Jarl Harkon Sigurdsson) ผู้สืบทอดอาซาทรูตามรูปแบบดั้งเดิม และรักษาให้คงไว้ที่ไอซ์แลนด์ จนกระทั่งได้รับการฟื้นฟูใหม่จนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของอักษรรูนนั้นถูกค้นพบตั้งแต่ปี ศตวรรษที่ 4-5 นั่นหมายความว่า การจารึกอักษรรูน อาจจะถือกำเนิดก่อนคริสตกาล ด้วยหลักฐานการแกะสลักบนอาวุธ แผ่นหิน กระดูกสัตว์ แผ่นไม้ หรืออุปกรณ์เครื่องใช้โบราณต่าง ๆ มูลเหตุที่ถูกกวาดล้างในยุคล่าพ่อมดแม่มด ค.ศ.ที่ 14-17 ก็เพราะผู้ใดที่ใช้จารึกอักษรรูนจะถูกตีความไปว่าเป็นพวกผู้วิเศษ หรือพ่อมดหมอผี พวกเล่นไสยศาสตร์อักษรรูนจึงเป็นอักษรโบราณที่เลือนหายไปในยุคหนึ่งพร้อม ๆ กับศาสนาอาซาทรูที่ตายไปแล้ว และเมื่อคริสตจักรเปิดกว้างมากพอ กลุ่มคนที่สนใจศึกษาจึงรื้อฟื้นอักษรรูนกันขึ้นมาอีกครั้งและกลายเป็นความนิยมของผู้ศรัทธา
“รูน” (Runes) มีรากศัพท์มาจากคำว่า รูน่าส์ (Runas) ในภาษาลัตเวีย แปลว่า คำพูด หรือบางตำราว่ามาจากคำว่า คาวเนน (Raunen) ในภาษาเยอรมัน แปลว่า เสียงกระซิบ หรือเสียงบ่น อักษรรูนนั้นเป็นอักษรที่ถูกออกแบบอย่างอิสระ ไม่ขึ้นกับอักษรใด มีความเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์ การร่ายเวท หรือการประทับมนตร์ให้กับสิ่งของเครื่องใช้ เป็นเสมือนอักขระโบราณที่สืบทอดกันมายาวนาน มีทั้งหมด 24 ตัวอักษร ในรูปแบบตั้งต้นเรียกว่า ดิ เอลเดอร์ ฟูทาร์ค (The Elder Futhark) จัดได้ว่าเป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุดจากการค้นพบในยุโรป คำว่า Futhark ไม่ว่าจะเป็นการสลักแผ่นหิน, แผ่นไม้, แผ่นโลหะ, อาวุธ, ศิลปกรรม หรือเครื่องประดับ ฯลฯ หลังจากที่ถูกกวาดล้างไป ก็มีการนำกลับมาใช้อีกครั้งภายหลังคริสต์ศตวรรษที่ 18 และได้มีการพัฒนาเพื่อใช้งานในกลุ่มประเทศอื่น คือ แองโกล แซกซอน ฟูทาร์ค (Anglo-Saxon Futhark) ที่มีการเพิ่มตัวอักษรเข้าไปเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการเขียนภาษาอังกฤษเก่า และ เดอะ ยังเกอร์ ฟูทาร์ค (The Younger Futhark) ที่ใช้เป็นอักษรหลักในนอร์เวย์, สวีเดน และเดนมาร์ก จนกระทั่งถูกแทนที่ด้วยตัวอักษรละตินเมื่อศริสตจักรแพร่ขยายไปถึง
ซึ่งหมวดการพยากรณ์ในหนังสือเล่มนี้ จะยึดหลักเพียงชุดอักษรโบราณเอลเดอร์ ฟูทาร์ค เท่านั้น เนื่องจากเป็นชุดอักษรเก่าแก่ที่สุด และเป็นที่นิยมในการใช้สลักหินวิเศษเพื่อใช้ในการพยากรณ์และการรักษานั่นเอง แต่ในส่วนของการผูกยันต์รูนจะนำอีก 2 ชุดมาผนวกไว้ให้เป็นทางเลือกนะครับ นอกนั้นเป็นพวกอักษรรูนยุคใหม่ที่พบเห็นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะในเกมส์หรือในภาพยนตร์บางเรื่อง เพียงแค่อ้างถึงชื่อ “รูน” เพื่อต้องการความหมายแฝงเกี่ยวกับเวทมนตร์เท่านั้น ไม่ได้สืบทอดทางรูปแบบอักขระโบราณแต่อย่างใด ไม่ขอกล่าวถึงครับ
อักษรรูนโบราณ ประกอบด้วยชุดอักษร 3 เอธส์ (Aetts ออกเสียง อา-เอธส์ แปลว่าครอบครัว) 1 เอธส์มี 8 ตัวอักษร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนเทพเจ้าและอื่น ๆ ดังนั้นในความเชื่อที่ว่า อักษรรูนใช้สื่อสารกับเทพเจ้าจึงเป็นเรื่องที่ไม่แปลกเท่าใดนัก (กล่าวมาถึงตรงนี้ขอเปรียบเปรยสักเล็กน้อยกับความเชื่อของแทบจะทุกภูมิภาคของโลกนะครับ ด้วยความต่างลัทธิ ต่างศาสนา ดังนั้นเราจึงไม่ควรตัดสินว่าบ้านเรางมงายกว่าบ้านเขา หรือฝรั่งเค้างมงายกว่าเรา ในเรื่องของตำนาน ผู้เขียนมองถึงเสน่ห์อย่างหนึ่งของวัฒนธรรมโบราณที่สืบทอดกันมา ถ้าทุกอย่างที่กล่าวถึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อ ก็ต้องใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลขัดเกลาจิตใต้สำนึกของตนเองนะครับ “เราจึงไม่ควรกระทบกระเทียบความเชื่อของใคร ด้วยความเชื่อของเราเอง”) และในหลักพื้นฐานของศาสนาอาซาทรู อักษรรูนโบราณมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง ดังนั้น ผู้ใช้จะไม่นำมาเล่นพิเรนทร์ หรือใช้กับสิ่งอันไม่พึงประสงค์เด็ดขาด เพราะเชื่อกันว่าจะถูกทำโทษจากเทพเจ้าตามตราประทับอักษรนั้น และอักษรรูนทั้ง 3 เอธส์ ประกอบด้วย
1. เฟรยา เอธ หรือ เฟรย์ เอธ (Freyja’s Aett / Freyr’s Aett) เป็นชุดอักษร รูนของเทพีเฟรยาและเทพเฟรย์ ผู้ได้รับขนานนามว่าเป็นเทพเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นอักขระชุดนี้จึงสื่อความหมายไปในเชิงความรัก ความสุข ความสมบูรณ์แห่งชีวิต
2. ฮากัล เอธ (Hagal’s Aett) เป็นชุดอักษรรูนของเทพเฮมดัลล์ (Heimdal) เทพผู้พิทักษ์ประตูแห่งสะพานบีฟว์รอสต์ (หากถ้าใครติดตามภาพยนตร์เรื่องธอร์ ก็คงจะพอนึกภาพออกนะครับ) ดังนั้นแล้ว ความหมายของอักขระชุดนี้จึงเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลง การมองเห็น การเปิดทาง เปิดวาสนา การนำทาง ความก้าวหน้า เงินทอง และความสำเร็จ
3. ธีร์ เอธ (Tyr’s Aett) เป็นชุดอักษรรูนของเทพธีร์ ผู้ได้รับขนานนามว่าเทพแห่งสงคราม อักขระชุดนี้จึงสื่อความหมายถึงพลัง อารมณ์ จิตวิญญาณ ความแข็งแกร่ง และความกล้าหาญ
ความสนุกของอักษรรูนอยู่ที่การผสมคำ หรือที่เรียกกันว่าการออกแบบเวทมนตร์คาถาด้วยการไบนด์รูน (Bind Runes) วิธีการสร้างคาถารูนคือนำเอาอักษรศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มาผสมเพื่อให้ได้ความหมายที่ต้องการ และการจะใช้คาถารูนให้ได้ผลและถูกต้อง ไว้จะกล่าวในบทต่อไปนะครับ
เท่าที่ผู้เขียนศึกษาในศาสตร์ของความเชื่อ และตำนานโบราณต่างๆ จึงอยากจะกล่าวพอสังเขปในเรื่องของอักษรรูนว่ามีความเป็นไปได้ ที่จะเกิดผู้สร้างในยุคก่อนคริสตกาล โดยอ้างอิงถึงหลักความเชื่อในเรื่องของพหุเทวนิยม อันหมายถึงการบูชาเทพเจ้าหลายองค์ รอยสลัก การจารึกในรูปแบบที่มีความหมายพิเศษ จึงเป็นการส่งต่อ ถ่ายทอด และผสมผสานเข้ากับเทวะตำนาน
อันการจารึกในอดีตคงหนีไม่พ้นปราชญ์ประจำชนเผ่า ที่อาจล่วงรู้ความลับของเทพเจ้าและจักรวาล หรือผู้ที่ได้รับการเคารพนับถือ คล้ายกับฤาษีในพราหมณ์-ฮินดู ที่เป็นผู้แต่งคัมภีร์พระเวท และก็เป็นผู้สร้างตำนานมหาเทพพราหมณ์ขึ้นมาเช่นเดียวกัน โดยอาศัยความกลัวของมนุษย์ สร้างสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจขึ้นมา และอักษรขอมที่คนไทยใช้เขียนยันต์ จารของขลัง ก็มาจากอักษรขอมโบราณ ที่รับมาจากพราหมณ์ในประเทศอินเดียเช่นเดียวกัน โดยมีต้นกำเนิดมาจากอักษรปัลลวะที่สืบทอดพัฒนามาจากราชวงศ์ปัลลวะ ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียราวพุทธศตวรรษที่ 11 หรือราว ๆ ปี 1000 – 1090 โดยประมาณ
จะเห็นได้ว่า ทุกความเชื่อ ทุกศาสตร์แห่งเวทมนตร์ มักจะมีตำนานเชื่อมโยงของตนในแต่ละภูมิภาค อันมาจากเหล่านักบวช, ผู้บำเพ็ญตน, พ่อมด, หมอผี, หมอยา, ผู้วิเศษ หรือผู้เฒ่าผู้แก่นักพยากรณ์ผู้ล่วงรู้ประจำหมู่บ้านก็ตาม คนเหล่านี้จะเป็นศูนย์รวมแห่งความเชื่อมั่นศรัทธา เป็นผู้แต่งแต้มตำนานให้เป็นจริง หลายคนคงสงสัยว่า “แต่งแต้มตำนานให้เป็นจริง” หมายความว่าอย่างไร เรื่องนี้ผู้เขียนคงต้องเชื่อมโยงไปถึงศาสตร์ของการดึงเอาพลังงานในห้วงจักรวาลมาใช้ตามใจปรารถนาของเหล่าผู้คงวิชาทั้งหลายข้างต้น นั่นจึงหมายความว่า ตำนานต่าง ๆ ใช่ว่าจะไม่มีตัวตน เทพเจ้าทั้งหลาย ใช่ว่าจะไม่มีตัวตน ในบางตำนาน เทพเจ้า เกิดจากมนุษย์ผู้บำเพ็ญตนจนสามารถปรับภพภูมิเป็นเทวดา เป็นเซียน อย่างเช่นเทพเจ้าของชาวจีน บางตำนานถูกเล่าขานต่อ ๆ กันมาถึงอานุภาพของนักบวชผู้อยู่เหนือจักรวาล จนถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งโลก เช่นพระศิวะ บรมครูแห่งฤาษีทั้งปวง เช่นเดียวกันครับ ชาวยุโรปก็มีตำนานเทพเจ้าในแบบฉบับของเขาเช่นกันครับ เวลาพูดถึงเทพเจ้าบ้านเขาเราก็จะตะขิดตะขวงใจ ก็เหมือนกับการที่เราไปเล่าเรื่องเทพเจ้าบ้านเรา กับคนที่ไม่รู้นั่นแหละครับ
“ความศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าเทพเจ้า เกิดจากจิตศรัทธาของมนุษย์” ใช่ครับ คำกล่าวนี้ถูกต้องยิ่งนัก เพราะเมื่อมนุษย์หลายล้านคนรวมจิตใจเป็นหนึ่ง นับถือในเทพเจ้า หรือรูปปั้นเทพเจ้าพระองค์ใด ก็จะทำให้เกิดอานุภาพ เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งมีเหล่านักบวช พ่อมด หมอผี หรือผู้ทรงศีลก็ตาม ทำพิธีถ่ายทอดพลังจากห้วงจักรวาลมาสู่รูปปั้นเหล่านั้น ก็จะกลายเป็นเทพเจ้าที่มีฤทธิ์ดั่งความปรารถนา เพราะศาสตร์ของการดึงเอาพลังงานในห้วงจักรวาลมาใช้นั้นถูกบัญญัติขึ้นมาหลายพันปีแล้วเช่นกัน เมื่อมีการทำพิธี มีการพลีบูชา ก็มีการเล่าขานตำนานต่อมา ดังที่ผู้คนได้รับสืบทอดมาในปัจจุบัน หรืออีกนัยหนึ่งคือ เมื่อเหล่าผู้วิเศษในอดีต ที่เชี่ยวชาญการติดต่อสื่อสารกับพลังภายนอกโลก (คล้ายกับศาสตร์พลังจักรวาลอะนะครับ) ก็จะสามารถรับรู้เรื่องราว นำมาสานต่อ ถ่ายทอด จัดตั้งบูชา น้อมนำพลังงานที่เรียกว่าเทพเจ้าเหล่านั้นมาสู่โลกนั่นเอง
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นนับเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม ความเชื่อโบราณบางอย่างถึงขัดต่อหลักการทางวิทยาศาสตร์ เหมือนความเชื่อเรื่องโลกทั้ง 9 ที่ยึดโยงอยู่บนต้นอิกดราซิล และความเชื่อที่ว่า โลกแบน ก็ตามที ซึ่งเมื่อพิสูจน์ทราบด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็บ่งบอกชี้ชัดได้แล้วว่า “มันไม่ใช่ความจริง”
แต่สิ่งเหล่านี้เราต้องแยกแยะกันนะครับ ในเรื่องความเชื่อ ความงมงาย และความศักดิ์สิทธิ์ของอักษรโบราณ เพราะความเชื่อ นำพามาซึ่งความงมงาย ในขณะเดียวกัน ความเชื่อ ก็นำพาความศักดิ์สิทธิ์ของศาสตร์โบราณตามมาด้วยเช่นกัน เหตุเพราะพลังงานธาตุกำเนิดบนโลก และพลังงานบริสุทธิ์ในห้วงจักรวาล ถูกประจุไว้ในเวทมนตร์ หรืออักขระโบราณเหล่านั้น จนเป็นรอยจารการสลัก เป็นสัญลักษณ์ที่ผนึก และสืบทอดกันมานับแต่โบราณกาล จนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น การใช้อักขระโบราณให้มีความขลัง และความศักดิ์สิทธิ์ นอกจากเราจะต้องใส่ความเชื่อในองค์ปฐมศาสดาของแต่ละศาสตร์เข้าไป คือต้องเชื่อว่าท่านเหล่านั้นมีตัวตน เชื่อว่าท่านจะคอยคุ้มครองผู้ใช้เวทมนตร์ให้แคล้วคลาดปลอดภัย และในพื้นฐานความเชื่อเหล่านี้ ผู้ใช้จงอย่ากังขา อย่าเคลือบแคลง อย่าสงสัยในความเป็นจริง หรือความเป็นไปไม่ได้อันใด ให้เราอินกับตำนาน และสืบทอดให้ตำนานเป็นเรื่องสวยงาม เป็นเหมือนนิทานที่ฟังแล้วเข้าใจที่มาที่ไป แต่เราไม่ควรอินว่าสิ่งเหล่านั้นเคยเกิดขึ้นจริง หรือไม่จริง เพราะการที่เราพยายามเชื่อในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เท่ากับเราเอาความงมงายมาแบกไว้บนบ่า แต่ถ้าเราปล่อยวางกับคำว่าตำนาน ให้มองผิวเผินก็เป็นเรื่องของการเล่าขาน ตำกันมานานแล้วจะหาเอาความจริงมาใส่ใจทำไม ตราบใดที่ยังพิสูจน์โลกใบอื่นไม่ได้ จะรู้ได้อย่างไรว่ามีหรือไม่มี คิดแบบนี้ได้ จะทำให้นิทานเทพปกรณัมมีความสนุก น่าติดตาม และน่าถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังถึงวัฒนธรรมที่สวยงามในยุคอดีตนั่นเอง
ต่อมา เมื่อกล่าวถึงรูนหากคุณเข้าใจเช่นนี้ เวลาใช้รูนให้คุณตั้งจิตแล้ว จินตมโนภาพระลึกถึงองค์เทพเจ้าโอดินและ/หรือมหาเทพีเฟรยา เป็นเครื่องยึดโยงจิตใจ เรื่องนี้ขอให้อยู่ที่ความศรัทธาของคุณนะครับ มูลเหตุในตำนานได้กล่าวถึงมหาเทพีเฟรยา (ธิดาเทพเจ้าวงศ์วานวานีร์ (Vanir) เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาเวทมนตร์เซธร์ (seiðr ) มนต์แห่งการล่วงรู้และเปลี่ยนแปลงอนาคต ให้แก่เหล่าทวยเทพวงศ์วานเอซีร์ (Æsir) ที่ปกครองโดยเทพเจ้าโอดิน ภายหลังการยุติการทำสงครามและสมานฉันท์กันระหว่างเทวโลกทั้งสอง ดังนั้น เหล่าผู้นับถือศาสนาอาซาทรู มักจะยกย่องเทพเจ้าโอดิน และมหาเทพีเฟรยาในลำดับคู่เคียงกัน ในส่วนของความสำคัญนั้น เมื่ออ่านบทที่ 5 จบแล้ว จะทำให้เข้าใจมากขึ้น ถึงสายสัมพันธ์ของทั้งสองอาณาจักรคือแอสการ์ด และวานาเฮม
กล่าวถึงเทพเจ้าและเทพีทั้งสองพระองค์ ผู้ซึ่งเป็นแหล่งศูนย์รวมความศรัทธาของศาสนาอาซาทรู ในยามอธิษฐานจิต ให้คุณกำหนดตัวตนดังกล่าวของเทพเจ้าโอดินและ/หรือมหาเทพีเฟรยาในห้วงสภาวะจิตของคุณเอง แล้วน้อมนำเอาพลังจากองค์เทพเทพี พลังจากดวงดาวทั้งหลาย พลังจากห้วงจักรวาลอันไกลโพ้น พลันหลับตาจินตนาการว่าพลังเหล่านั้นพวยพุ่งมาสู่กายของคุณ ผ่านทางกลางกระหม่อม ไหลลงสู่ต้นคอ ไปสู่หัวใจ และไหลไปสู่มือทั้งสองของคุณ แล้วส่งต่อพลังงานเหล่านั้นไปที่หินจารึกอักษรรูนของคุณก่อนหยิบคำทำนาย และนี่คือเคล็ดลับของความขลัง และการเพิ่มพลังให้รูนก่อนใช้ทำนายอย่างได้ผล
วิธีการนี้เป็นวิธีในเชิงไสยศาสตร์ความเชื่อของเหล่าผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นพ่อมด/แม่มด ในยุคโบราณ นำมาใช้ในการปลุกเสก ร่ายเวทมนตร์ และกำกับคาถาใด ๆ ก็ตาม เพื่อให้อานุภาพยิ่งใหญ่ตามแต่จิตตั้งมั่นและประสงค์ให้เกิดสิ่งใด ซึ่งว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ในปัจจุบันหาผู้ที่ทำสำเร็จน้อยมาก แต่ผู้เขียนถ่ายทอดไว้ตรงนี้เผื่อใครมีความสามารถ มีสติ มีสมาธิแน่วแน่ ลองนำไปใช้กันดูนะครับ สังเกตเมื่อคลื่นพลังไหลไปสู่ฝ่ามือของคุณ ฝ่ามือจะร้อนเย็นวูบวาบ หรือชาเบา ชามาก แล้วแต่ระดับพลังงานครับ
“ในการทำนายอักษรรูนนั้น จะเน้นการอ่านพลังงานรูน ต่างจากการทำนายทั่วไป เสมือนการได้รับพลังบางอย่างจากพลังงานนอกโลก ซึ่งหากได้รับพลังดี ดวงก็จะดีตาม หากได้รับพลังร้าย ดวงก็จะร้ายตาม นี่คือหัวใจของการพยากรณ์อักษรรูนครับ”
“จงศรัทธา ปาฏิหาริย์จะเกิด”
💥💥💥💥💥💥💥💥
สนใจศึกษาศาสตร์อักษรรูน
ในรูปเล่มฉบับสมบูรณ์ได้ที่
หนังสือ "อักษรรูน การใช้รูนพยากรณ์และเกร็ดตำนานนอร์ส"
Rune Reading and Norse Mythology
หนังสือ "ยันต์รูน เมจิกคอลสเตฟส์และการออกแบบไบนด์รูนพร้อมใช้"
Bind Runes and Staves
.........................
หรือติดต่อแอดมินเพจ Facebook เพื่อสอบถามได้ที่นี่
อนุญาตให้แชร์บทความ
หรือคัดลอกไปเผยแพร่ในช่องทางของตนเองได้
โดยต้องให้เครดิตผู้เขียน หรือช่วยแชร์ลิงค์หนังสือให้ด้วยนะครับ
ไม่อนุญาตให้ตีพิมพ์ หรือจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ใด
หากพบจะดำเนินคดีตามกฎหมาย พรบ.ลิขสิทธิ์ฯ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น