อาชีพหมอดู ตายไปแล้วเป็นเปรต ใช่หรือ??



     เหตุเกิดจากลูกศิษย์ท่านหนึ่ง ทักมาถามผู้เขียนว่า "อาจารย์ หนูไปดูคอนเทนต์นึงมา เขาบอกว่า อาชีพหมอดูตายไปจะเป็นเปรต จริงหรอคะ?" จึงอยากให้พิจารณาเบื้องต้นก่อนนะครับว่า ไปดูที่ไหนมา ใครเป็นคนพูด และเขาพูดอ้างอิงจากอะไร

     จริงอยู่ครับว่ามีในบางบท หรือบางพระสูตรในทางพุทธศาสนากล่าวถึงมังคุลิตถีเปรต ว่า "รูปร่างน่าเกลียด มีกลิ่นเหม็น ลอยไปในเวหาส์ ฝูงแร้ง เหยี่ยว และนกตะกรุม พากันโฉบอยู่ขวักไขว่ จิกสับโดยแรง จิงทึ้ง ยื้อแย่ง สะบัดซึ่งเปรตหญิงนั้นอยู่ไปมา เปรตหญิงนั้นร้องครวญครางญ

     ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า "ภิกษุทั้งหลาย เปรตหญิงนั้นเคยเป็นหญิงหมอดู (อิกฺขณิกา) อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง" แต่ในบางบันทึกก็กล่าวว่า "เปรตหญิงนั้นเคยเป็นแม่มด อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง..."

     ซึ่งเมื่อพิจารณาจากคำว่า "อิกฺขณิกา" ตามพจนานุกรมไทยบาลี ได้ความหมายว่า คนทรงหญิง, แม่มด, หมอดู ก็ได้เช่นกัน โดยนางเปรตนั้นได้แต่งตัวเป็นร่างทรง อ้างว่าตนสามารถติดต่อกับเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ได้ ทำให้คนหลงเชื่อและได้ความเคารพนับถือมากมาย หลอกลวงคนอื่นหากินอย่างนี้จนตลอดชีวิต ครั้นตายไปจึงได้ไปเกิดในนรก เมื่อพ้นจากนรกแล้วก็ได้มาเปิดเป็นเปรตร่างเน่า เพราะกรรมจากการอาศัยร่างกายของตนหลอกลวงคนอื่นว่าเป็นร่างทรงประกอบมิจฉาชีพ จึงต้องทนทุกข์ทรมานมีร่างกายเน่าเช่นนี้


     จะเห็นได้ว่า เหตุของกรรมที่กลายเป็นเปรตนั้น มิได้ระบุถึงอาชีพเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะเมื่อครั้งมีชีวิตได้หลอกลวงต้มตุ๋นผู้อื่นไว้มาก ดังนั้น ผู้ที่ทำอาชีพหมอดู ถ้าหมั่นพิจารณากรรม ไม่สร้างวจีกรรมทุจริต ผลของการกลายเป็นเปรตคงยังห่างไกลนัก ดังเช่นที่ผู้เขียนจะบอกตลอดว่า หมอดูก็เปรียบเสมือนที่ปรึกษา ผู้ให้คำแนะนำ ถ้าแนะนำไปในทิศทางที่ดี ไม่พูดให้ใครต้องหดหู่ใจ ท้อใจ เป็นเสมือนเพื่อนที่ลูกดวงพูดคุยได้ ทำให้เขาสบายใจขึ้นได้ นั่นเป็นสิ่งที่พึงกระทำ แต่ถ้าจะผลักดันลูกดวงไปสู่ความเดือดร้อน เช่น ต้องจ่ายเงินเพื่อทำพิธี ต้องทำอะไรที่เกิดความวิตกกังวล เครียด ดำเนินชีวิตไม่มีความสุข นั่นคงส่งผลกรรมต่อผู้ทำนาย หรือผู้ชักจูงเอง

     ดังนั้น อาชีพหมอดู จึงต้องอาศัยจิตวิทยา การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ และเข้าถึง เข้าใจ ให้คำปรึกษาที่ดีได้ โดยการที่จะให้คำปรึกษาที่ดีนั้นย่อมต้องมีความรู้เป็นองค์ประกอบ หมอดูที่ดี จึงหมั่นศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของหลักปฏิบัติของศาสนาต่าง ๆ (แนะนำให้ศึกษาหลายบทบาทของหลายศาสนา) แล้วนำเอาแนวทางที่ดีมาเป็นไกด์ให้ตัวเองเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นจึงนำไปเป็นไกด์ให้ผู้อื่นในลำดับต่อไป

     เราเป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา อะไรที่น้อมนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ พึงนำมา อะไรที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต ทำให้เราต้องคิดต้องยึดติดกับความวิตกกังวลก็ตัดทิ้งออกไป เส้นทางข้างหน้าจะศึกษาธรรมของพระสมณโคดม หรือจะศึกษาวิถีปฏิบัติตามหลักศาสนาอื่นใดย่อมเป็นทางเลือกของตัวเราเอง ทุกวันนี้มีกระแสมากมายครับของเหล่าผู้ศึกษาพุทธจวน กับอรรถกถาในพระไตรปิฎก แล้วเอาหลักธรรมมาฟาดงวงฟาดงากันกลางโซเชียล อันนั้นไม่ใช่ อั้นนี้ไม่ถูก เถียงกันจนเจียนใกล้บรรลุเลเวลสูงสุดกันเลยทีเดียว ประโยชน์อะไรกับการเรียนรู้ข้อธรรมต่าง ๆ นา ๆ แต่แม้แต่ศีล 5 ยังรักษาไม่ได้ พุทธองค์วางธรรมะไว้ให้เลือกหยิบไปปฏิบัติ หรือจะปฏิบัติทั้งหมดก็สุดแท้แต่ปัญญาของแต่ละบุคคลที่พึงขัดเกลาตนเอง เมื่อขัดเกลาตนเองจนถึงพร้อมแล้วจึงน้อมนำไปขัดเกลาผู้อื่น ทุกวันนี้เราจะเห็นชาวพุทธแท้ พุทธเทียม หรือกลุ่มอิงแอบพุทธวจน งัดพระสูตรมาดีบัฟกันโดยอัตตา ... คำถามคือ ประโยชน์อะไร? ดังนั้นการเลือกเสพสื่อ และใช้สติปัญญาจึงเป็นเรื่องสมควรยิ่ง และสิ่งที่พึงดึงสติตนเองคือ ทุกศาสนา ทุกอารยธรรม ล้วนมีที่มาจากความเชื่อ ถ้าเราไม่เชื่อในตัวตนของพระพุทธเจ้า เราก็นับถือศาสนาพุทธไม่ได้ ถ้าเราไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง เราก็นับถือศาสนานั้นไม่ได้ สิ่งที่ควรพิจารณามากที่สุดคือ อะไรที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับเรา ในฐานะที่เรามีการงานอาชีพแบบนี้ หรือเราต้องทำภาระหน้าที่แบบนี้นั่นสำคัญที่สุดครับ

ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี