หลักการสร้างบุญกุศล ทั้ง ๑๐ ประการ บุญที่๒ การรักษาศิล โดย อ.ไป๋ล่ง
บุญ ๒. การรักษาศีล หรือ “สีลมัย” เป็นการสำรวมกาย วาจา ใจ ในห้วงเวลาหนึ่ง หรือทุกห้วงเวลาได้ยิ่งดี เพื่อเป็นการฝึกฝนร่างกาย และจิตใจของตนเอง ศีลพื้นฐานของมนุษย์มี ๕ ข้อ เป็นสิ่งที่ควรรักษาไว้ หากในชีวิตจำเป็นที่จะต้องผิดในข้อใด ก็ขอให้รักษาข้ออื่นไว้ให้มั่น และวันไหนว่าง อาจจะวันพระ วันหยุด ก็ให้ลองสมาทาน (รับเอา, ถือเอามาปฏิบัติ) รักษาศีลข้อที่บกพร่อง แล้วรักษาให้ได้สักวัน ทำบ่อย ๆ ในวันที่ทำได้ หรือจะใช้วิถีปฏิบัติจากพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่ท่านกล่าวว่า ก่อนนอนก็สมาธานศีลไว้ แล้วพักผ่อน เพราะเวลานอน คนเราไม่ผิดศีลเป็นแน่ แบบนั้นก็เป็นกุศโลบายที่ดี ในความจริงท่านต้องการให้เราฝึกสมาทานศีลให้ขึ้นใจครับ บางคนยังจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าศีล ๕ ข้อมีอะไรบ้าง บอกเลยนะครับว่า “ศีล” หรือข้อปฏิบัติทางกายและวาจาให้ถูกต้องตามหลักศาสนานั้น เป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นการขัดเกลาจิต ย้ำเตือนตนเองว่า “ชีวิตคนเราควรมีศีล ๕ เป็นพื้นฐานนะ” สมาทานบ่อย ก็เท่ากับได้คิดตามบ่อย เขาเรียกว่าจิตมันจะเกลาตัวเอง สักวันหนึ่งที่เราปฏิเสธการกระทำผิดศีลได้ เราก็จะสบายใจ และยกระดับจิตใจได้เอง บางคนกลัวว่า อาราธนาศีลกับพระกับเจ้า เดี๋ยวทำผิดจะบาปหนัก หรือถูกลงโทษ เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด ไม่มีเทวดาองค์ไหนมีบทบาทหน้าที่ลงโทษมนุษย์ที่พยายามแล้วพยายามอีก
ที่จะรักษาศีลแต่ทำไม่ได้ทั้งหมด ถ้าท่านจะลงโทษ สู้ไปลงโทษคนที่ไม่มีศีลเลย ไม่คิดจะรักษาเลยดีกว่า ดังนั้นแล้ว จงอย่ากลัวที่จะสมาทานศีล การสมาทานก็ง่าย ๆ จะรักษาศีลข้อไหน ก็ให้กล่าวศีลข้อนั้น เช่น จะรักษาศีลข้อ ๑ ก็เอ่ยขึ้นมาได้เลย “ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขปะทัง สะมาทิยามิ .. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต” (คำว่าสิกขาบท แปลว่า ข้อศีล, บทบัญญัติในพระวินัยที่พึงศึกษาปฏิบัติตาม) แต่สำหรับคนที่จำบาลีได้ไม่แม่นยำ ก็ทำได้เพียงกล่าวเป็นภาษาไทยไปเลย ไม่ใช่เรื่องผิดครับ เอาที่เราเข้าใจเป็นพอ
ในบางคนจะมีอุปสรรคที่จะสมาทานศีล หรือรักษาศีลให้คงที่ เพราะหน้าที่การงาน เช่น บางคนหาปลาเลี้ยงดูครอบครัว ต้องฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารทุกวัน ก็อย่าคิดว่าตัวเองห่างไกลพระธรรม หรือไม่สามารถใช้ชีวิตตามแนวทางของชาวพุทธได้ วันนี้ทำได้แค่ไหน เอาแค่นั้น รักษาข้อ ๑ ไม่ได้ ก็ทำอีก ๔ ข้อให้บริสุทธิ์ที่สุด ทำข้อไหนไม่ได้ ก็ทำข้อที่เหลือให้ได้มากที่สุด แล้วเลือกปฏิบัติตามที่ผู้เขียนแนะนำได้คือ วันพระ วันหยุด วันไหนที่พร้อม หรือจะก่อนนอน สมาทานศีลให้เป็นนิจ เตือนสติตนเองว่า “ถึงวันนี้ฉันยังทำได้ไม่ครบ ก็จะต้องมีสักวันที่ฉันจะทำให้ได้”
แต่สำหรับคนปกติ ที่สามารถรักษาศีลได้ครบ ๕ ประการพื้นฐาน แต่ก็มีผิดพลาดไป เช่น “อุ้ย .. วันนี้เผลอโกหกไปอีกละ ทำไงดี บาปแน่เลย ต่อไปไม่รับศีลดีกว่า กลัวบาป” แบบนี้ไม่เอานะครับ ถ้าทำผิดพลาดไม่เป็นไร ระลึกในใจเลยว่า “ฉันทำผิดพลาดกับตนเอง คือละเมิดศีลข้อ ๔ ต่อไปฉันจะพึงระวังให้มากกว่านี้ ขอตั้งใจอีกครั้งสมาทานศีลข้อ ๔ ละเว้นจากการพูดปด” อะไรทำนองนี้ครับ ไม่จำเป็นต้องเปะทุกคำ เอาเท่าที่เราเข้าใจ แล้วก็ใช้ชีวิตต่อไป พึงระวังเท่านั้นเอง ผิดก็แก้ไขใหม่ อย่าไปบั่นทอนตัวเองแบบที่ยกตัวอย่างมานะครับ มันไม่ฮีลใจ ทำอะไรแล้วต้องมากังวล ไม่เกิดประโยชน์ จงจำไว้เสมอว่า แค่คิดที่จะรักษาศีล ก็ดีกว่าคนที่ไม่เห็นศีลว่ามีตัวตน ทำผิดทำบาปไม่สนใจ คนเหล่านั้นห่างไกลความเจริญกว่าเรามากนัก
พอพูดมาถึงตรงนี้ บางคนก็จะบอกว่า “อ้าว แล้วทีคนนั้นหละ ทำบาปสารพัด ทำไมรวยเอา รวยเอา” เรื่องแบบนี้คุณสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเองครับ สืบค้นข้อมูลดูให้แน่ใจว่า คนทำบาปมาทั้งชีวิตแต่มีทรัพย์ แล้วทรัพย์สินเขาได้มาอย่างไร ความสุขสบายของเขาแขวนบนความเสี่ยงแบบไหน ภายใจในเขาจะมีความสุขเท่ากับคนที่รักษาศีลทำความดีหรือไม่ โดยส่วนมากคำตอบพบเห็นได้จากข่าวหน้าหนึ่งเสมอครับ การดำรงตนอยู่ในศีลได้ ความสำเร็จ และความมั่งคั่ง อยู่ไม่ไกล ทำได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ทำได้ ๑ วันก็เป็นมงคลชีวิต เป็นบุญที่เราได้ทำ ส่วนชีวิตปกติเราจำเป็นต้องผิดข้อไหน เลี่ยงได้แค่ไหน พยายามให้มากที่สุด ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุดแล้วครับ อย่าไปฟังคำของกลุ่มสโลแกนพุทธแท้ ชีวิตคนเราแตกต่างกัน เขาทำได้ เราอาจจะทำไม่ได้ แต่อย่างน้อยขอให้ได้ทำบ้าง มันดีต่อใจ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น