ปราณวิถีกับแนวคิดและการฝึกหายใจพื้นฐาน

 

ปราณกับพุทธศาสนา
     ถ้าเราสนใจศึกษาเกี่ยวกับการฝึกปราณ ฉันจะผิดบาปในเชิงพุทธศาสนาหรือไม่ ขัดหลักคำสอนหรือเปล่า ซึ่งหากข้อสงสัยนี้ยังอยู่ภายในใจของท่าน ผู้เขียนตอบได้เลยว่า ผิดแนวทางคำสอน ของพระสงฆ์ ไม่พึงปฏิบัติ เป็นอย่างยิ่ง ตีกรอบชัดเจนสำหรับสงฆ์สาวกครับ ในฐานะปุถุชนคนธรรมดา ไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง และไม่ผิดหลักคุณธรรม จริยธรรมแน่นอนครับผม

(คลิปวิดิโอประกอบบทความ)

     กล่าวมาถึงตรงนี้คงจะพอทำให้ทราบนะครับว่า คำว่า “ปราณ “ หรือลมปราณนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะมีการสืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่ก่อนพุทธกาล และมีการนำมาใช้ต่อยอดจากการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงที่เรียกว่าสัจธรรมและอริยสัจ 4 ซึ่งในหลักการทางพุทธศาสนาถูกบัญญัติไว้ ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน และการเจริญกรรมฐาน ลักษณะที่แสดงให้เห็นชัดเจนคือท่านั่งคู้บัลลังก์และการวางมือในรูปแบบมุทรา หรือพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่ใช้ท่วงท่าของธยานมุทรามาเป็นต้นแบบ ดังนั้น หากจะกล่าวว่าปราณวิถีดั้งเดิมของอินเดียโบราณ เป็นต้นแบบการปฏิบัติสมาธิของพุทธศาสนาก็ไม่ผิดอะไร เพียงแต่เป้าหมายของการปฏิบัติฉีกแยกออกไปสู่การบรรลุธรรมนั่นเอง

     และเมื่อพระสงฆ์หลายรูปดึงเอาบางส่วนของวิธีฝึกลมหายใจแบบเก่า หรือยึดหลักปราณายามะ (Pranayama) มาใช้เพื่อกำหนดการฝึกสมาธิของสำนักสงฆ์บางสำนัก จึงมีการถกเถียงกันถึงเรื่องเทคนิคการปฏิบัติและความเหมาะสม โดยเสียงแตกออกเป็น 2 ฝั่ง ระหว่าง “มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรสามารถปฏิบัติควบคู่กันไปได้” กับ “พระสงฆ์ควรเจริญกรรมฐานเป็นที่ตั้งเดียวเท่านั้น” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรื่องถกเถียงของศาสนานั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ยาวนานมาหลายพันปีก็ยังเถียงกันไม่จบไม่สิ้นถึงวิธีการคิด การยึดหลักปฏิบัติจากพระไตรปิฎก หรือจะต้องอ้างอิงจากพุทธวจนเท่านั้น หากพระพุทธเจ้าไม่เคยตรัส ถือว่าไม่ถูกบัญญัติให้ประพฤติตาม มากมายก่ายกองครับที่เราไม่จำเป็นต้องแบกให้หนัก ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ ไม่ใช่หน้าที่ของฆราวาสที่จะไปตัดสินผิดถูกในเรื่องนี้

     แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ เมื่อมีการถกเถียงกันเรื่องของแนวทางปฏิบัติว่า วิธีนี้ไม่ควรฝึกเพราะไม่ถึงซึ่งหนทางแห่งการดับทุกข์ หรือวิถีปราณเป็นการฝึกนอกรีต ดังเช่นสำนักปฏิบัติบางแห่ง ที่ไม่เพียงปฏิเสธการฝึกสมาธิในรูปแบบปราณ ยังมีการตำหนิอย่างรุนแรงและไล่ให้กลับไปฝึกเองที่บ้าน อย่านำมาปะปนในสำนักของตนก็มี (ผู้เขียนพบเจอมากับตนเอง)

     หากจะมองในแง่มุมของบุคคลทั่วไป หรือพุทธศาสนิกชน ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรหากใครใคร่จะศึกษาและฝึกปฏิบัติในแบบฉบับปราณวิถี โดยอาจฝึกคนละห้วงเวลากับการเจริญกรรมฐานตามแนวทางคำสอนก็ทำได้ หรือจะฝึกปราณวิถีก่อนเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็ทำได้อีกเช่นเดียวกัน

     เหตุผลที่ต้องหยิบยกเรื่องนี้มาพูดก่อน เพราะค่านิยมของสังคมที่ผันแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา บ้างก็อ้างอิงอวิชชา บ้างก็อ้างหลักคำสอนทางศาสนามาเป็นตัวชี้วัดค่าความสำเร็จในฐานะมนุษย์ธรรมดาผู้หนึ่ง สำหรับเหล่านักปฏิบัติตามรอยพุทธวจน จะมองว่าการหันเหไปฝึกในรูปแบบอื่นนั้น เป็นการเดินอ้อมอาจพาให้หลงทาง ต้องมุ่งตรงทางเดียวไปสู่หนทางดับทุกข์ จะมัวมาเสียเวลาหลงยึดติดกับกายสังขารไปทำไม สุขภาพดีหรือไม่ดีสุดท้ายก็ต้องตายเหมือนกันหมด สู้มาระลึกถึงความตายทุกขณะจิตดีกว่า

     ในขณะที่คนเราจำนวนมากล้วนเติบโตขึ้นมาและต้องศึกษาสารพัดเดรัจฉานวิชาเพื่อการดำรงอยู่ หรือการเลี้ยงชีพ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคำนี้มีที่มาที่ไปอันน่าสนใจ เพราะคำว่า “ติรัจฉานวิชา” หรือ “ดิรัจฉานวิชา” หรือที่ได้ยินกันติดหูว่าเดรัจฉานวิชานั้น ถูกนำมาใช้ดูแคลนศาสตร์ความเชื่อนอกศาสนา ในความหมายที่ว่าคือ ความรู้อันต่ำทรามที่พระวินัยนั้นห้ามภิกษุสามเณรเรียน เหตุเพราะเป็นวิชาที่ขวางทางบรรลุธรรม ..

(ติรจฺฉาน แปลว่า ผู้ไปโดยส่วนขวาง แปลเป็นนัยถึงร่างกายที่ขนานไปกับพื้นโลก) เป็นสิกขาบทสำหรับพระสงฆ์ เป็นข้อวินัยต้องห้ามที่ผู้เขียนสันนิษฐานว่าเกิดจากการผิดหลักคำสอน เพราะหากพระสงฆ์สาวกระดับต้นหลงผิดมัวไปไปกับศาสตร์นอกวิถีปฏิบัติทางพุทธ มุ่งเน้นไปทางด้านพลังจิตหรือปาฏิหาริย์ ก็จะนำพาผู้คนให้ลุ่มหลงโมหจริต หลงผิดไปยึดมั่นปฏิบัตินอกเส้นทางได้ เป็นการป้องกันผู้คนหันไปนับถือศาสนาอื่น อันไม่สามารถก้าวพ้นกองทุกข์ได้เช่นหลักคำสอนของพุทธศาสนานั่นเอง

     สิ่งเหล่านี้ทำให้คนยุคใหม่เข้าใจผิดเรื่องเดรัจฉานวิชา ว่าขมวดไปอยู่เพียงเรื่องเสกเป่าคาถาอาคม ลงอักขระเลขยันต์ ดูดวงชะตา พ่นน้ำหมาก พรมน้ำมนต์ กันเสียอย่างเดียว เพราะหากจะตีความวิชาความรู้ที่เราท่านศึกษากันมานั้น ล้วนเข้าข่ายเดรัจฉานวิชาทั้งสิ้น เหตุเพราะไม่ใช่หนทางแห่งพระนิพพาน วิชาเดียวที่พุ่งตรงไปสู่ความสำเร็จด้านการหลุดพ้นคือวิปัสสนากรรมฐานตามแบบอานาปานสติ จะเรียนแพทย์ก็ดี เรียนช่างก็ดี เรียนบริหารก็ดี ทุกความรู้เหล่านี้ล้วนเป็นไปในทางขวาง ทำให้ผู้คนต้องวิ่งวนหาหนทางเพื่อการเลี้ยงชีพ ต้องปะปนกับกิเลสและกองทุกข์ จะหลุดพ้นได้ต้องสลัดออกสิ้นแล้วเท่านั้น จึงจะถึงจุดสูงสุดของเป้าหมายของคำสอน

     ที่ต้องอธิบายยืดยาวในเรื่องนี้ เพราะหากเรายังติดค้างคาใจ เราจะไม่สามารถไปต่อได้ในทางสายปราณวิถีอย่างแน่นอนครับ มันจะกลายเป็นข้อสงสัย วิตกกังวล หรือข้อกังขาว่า ถ้าฉันสนใจศึกษาเกี่ยวกับการฝึกปราณ ฉันจะผิดบาปในเชิงพุทธศาสนาหรือไม่ ขัดหลักคำสอนหรือเปล่า ซึ่งหากข้อสงสัยนี้ยังอยู่ภายในใจของท่าน ผู้เขียนตอบได้เลยว่า “ผิดแนวทางคำสอน ของพระสงฆ์ ไม่พึงปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง” ตีกรอบชัดเจนสำหรับสงฆ์สาวกครับ ในฐานะปุถุชนคนธรรมดา ไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง และไม่ผิดหลักคุณธรรม จริยธรรมแน่นอนครับผม ส่วนจะบาปหรือไม่บาป ก็ไปมุ่งเน้นที่เจตนาของการฝึก ถ้าฝึกเพื่อชำระร่างกายและจิตใจให้พร้อม ให้แข็งแรง เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิต ไม่เบียดเบียนใคร จะเอาความบาปมาจากไหน ในเมื่อใจเราฟู ลองนึกภาพตามดังกล่าวนะครับ ดังนั้น คำปรามาสจากกลุ่มผู้คลั่งคำสอนจนยึดติดสร้างจริตตามอัตตา ล้วนแต่เป็นแนวทางยึดถือปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม ไม่มีใครผิดบาปด้วยเรื่องการฝึกทั้งสิ้นครับ

     ในส่วนของบทบาทและหลักคำสอนของแต่ละสำนักหรือแต่ละวัด บางครั้งอาจหยิบยกแนวทางของนิกายมาถกเถียงกัน ซึ่งก็มีมานมนานนับแต่พุทธกาล เรื่องเหล่านี้ผู้เขียนขอละไว้ในฐานที่พอเข้าใจ เอาแค่พอสังเขปแล้วกันนะครับ ใครคิดเห็นแบบไหนขอให้เป็นไปตามปัจเจก แต่ที่เห็นเด่นชัดและขัดใจที่สุดก็น่าจะเป็นเรื่องการหยิบยกพลังวิเศษ พลังจิต การแสดงฤทธิ์ หรือปาฏิหาริย์ เพื่อสอดแทรกไประหว่างการฝึก เช่นการสอนเรื่องเพ่งกสิณ ที่หลุดกรอบความคิดเรื่องการพัฒนาจิตเพื่อให้เป็นสมาธิ แต่กลับพุ่งเป้าต่อยอดไปสู่อภิญญา คือความต้องการมีฤทธิ์ แบบนี้ก็ผิดพลาดในเชิงการปฏิบัติตามคำสอนของพุทธองค์อีกเช่นกันครับ

      ถ้าจะเปรียบเรื่องการฝึกปราณ กับฝึกสมาธิตามคำสอนทางพุทธศาสนา ผู้เขียนเทียบกับการที่เราตื่นเช้ามาวิ่งออกกำลังกาย แล้วหัวค่ำสวดมนต์ ไหว้พระ ปฏิบัติกรรมฐาน อารมณ์เดียวกันกับการทำกิจกรรมเหล่านี้ครับ ต่างกันแค่เพียงวิธีการเท่านั้นเอง แนวทางวิถีปราณนั้น จะมุ่งเน้นที่การฝึกลมหายใจในหลายรูปแบบที่มีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน เช่นเพื่อสุขภาพ หรือหลอมรวมจิตวิญญาณร่วมกับธรรมชาติ การฝึกร่างกายและจิตใจ ผสานการทำงานระหว่างกายกับจิต เพื่อเปิดรับพลังด้านบวก และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวันเพื่อขจัดพลังงานด้านลบหลายอย่างออกไป เพื่อจัดการกับสภาวะอารมณ์ หรือการรักษาเยียวยาโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งโรคทางอารมณ์ และโรคทางร่ายกาย จึงขอให้ตัดความกังวลในส่วนนี้เป็นปฐมเหตุ เพื่อทำความเข้าใจต่อไปตามลำดับ

     เรื่องนี้ผู้เขียนยกให้เป็นเรื่องที่สมควรพิจารณาตามปัจเจกบุคคล ในฐานะปุถุชนคนธรรมดา ว่าตัวเราเองต้องการกำหนดหรือพุ่งเป้าหมายชีวิตไปในเรื่องใด คนเราทุกคนเกิดมาล้วนมีภาระผูกพันตามแต่พื้นฐานครอบครัวเป็นตัวสร้าง การที่เราต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เราต้องขวนขวายสิ่งใดเป็นแนวทาง หรือการที่เราอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีจิตใจที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังบวก หรือมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง มีพลังแฝงที่จะนำมาใช้ประกอบอาชีพ พร้อมทั้งดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย มีผลกำไรจากการฝึกให้ตักตวง เป็นแนวทางที่ใช่สำหรับคุณหรือไม่ หากคำตอบของคุณคือ “ใช่” นั่นคือความพร้อมของคุณในการศึกษาปราณวิธีจากตำราเล่มนี้เพื่อเป็นทุนต่อยอดไปสู่ความสำเร็จในอนาคต

แนวคิดและการฝึกหายใจพื้นฐาน

     วิธีการฝึกร่วมกันระหว่างกายและจิต โดยร่างกายฝึกสองส่วนด้วยกัน คือลมหายใจและกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ส่วนจิตจะฝึกร่วมกันสองส่วนคือ ระบบประสาทและจินตภาพ เมื่อผู้ฝึกสามารถกำหนดสมาธิและผสานทั้งกายและจิตเข้าด้วยกันได้ นั่นคือแนวทางของการฝึกฝนที่จะประสบความสำเร็จขั้นพื้นฐาน และต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว

     อย่างที่เกริ่นไปแล้วถึงต้นกำเนิด ที่มาที่ไปของการฝึกปราณ หรือฝึกสมาธิของคนโบราณ และเป็นที่น่าสังเกตว่า ศาสตร์วิชาเหล่านี้สอดคล้องรองรับกันอย่างไม่น่าเชื่อ ผู้เขียนนิยามว่า “ต่างหนุนต่าง” นั่นก็คือ ด้วยพื้นฐานแนวคิดเรื่องเป้าหมายารฝึกฝนที่แตกต่างกัน แต่วิธีการฝึกฝนกลับสนับสนุนกัน และผลสำเร็จที่ได้รับก็แตกต่างกันอีกครั้ง

     กล่าวคือ แต่ละภูมิภาคจะมีแนวคิดเกี่ยวกับวิถีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายต่างกัน เข่นอารยธรรมจีนโบราณโดยลัทธิเต๋า จะฝึกเพื่อเสริมสร้างกำลังภายใน ที่เรียกว่า “ชี่” (Qi) ถ้าเป็นอารยธรรมอินเดียโบราณ จะฝึกเพื่อเข้าถึงจิตวิญญาณ การนิยามศูนย์รวมพลังงานที่เรียกว่า “จักระ” (Chakras) ตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย และสิ่งที่น่าสนใจคือจะด้วยแนวคิดเรื่องของชี่ หรือจักระ ดูจะมีความเชื่อมโยงสอดรับกันอยู่พอสมควร เพราะตัวแปรในการขับเคลื่อนพลังเหล่านั้นก็คือลมหายใจ และการกำหนดสมาธิจิต อาจจะด้วยหลักการสร้างจินตภาพ เพื่อการรับรู้ถึงพลังจากภายนอกที่เข้าสู่ร่างกาย และเมื่อมีแนวความคิดแบบนี้ มีใครสงสัยหรือไม่ครับว่า พลังที่กล่าวถึงเหล่านี้ “มีจริงหรือไม่?” และ “มาจากแนวคิดอะไร?”

     สำหรับผู้สนใจฝึกปราณวิถี คือต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสรีรวิทยา (Physiology) ว่าด้วยเรื่องระบบการทำงานของร่างกายที่สำคัญ 3 ส่วนด้วยกัน นั่นคือ ระบบการหายใจ, ระบบการทำงานของสมอง และระบบย่อยอาหาร เพราะเป็นองค์ประกอบหลักของการผันแปรพลังงานจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย หากผู้ฝึกปราณไม่เข้าใจซึ่งกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว จะทำให้การฝึกช้าลงด้วยความหลงทาง หลงไปจินตนาการหรือสร้างจินตภาพ ปรุงแต่งสภาวะจิต ยึดติดอยู่กับพลังเหนือธรรมชาติ

     สิ่งที่คุณจะได้รับจากแนวคิดดังกล่าวนั้น คือการจำลองภาพในหัวเป็นตุเป็นตะเรื่องพลังงานในตัวตน ไม่ต่างอะไรจากการสะกดจิตตนเองเพื่อให้หลง ให้เชื่อว่าตัวเองมีพลังบางอย่างที่พิเศษเหนือมนุษย์ธรรมดา และตัวฉันเองสามารถรักษาคนได้ สามารถมองเห็นภาพซ้อนของบุคคลได้ สุดท้ายแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับการหลอกตัวเอง และนำพาไปสู่การน้อมนำพลังด้านลบเข้าสู่ร่างกาย เช่นผีเจ้าเข้าทรงที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

     ดังนั้น ในการฝึกปราณวิถีที่ตำราเล่มนี้มุ่งเน้น คือการตั้งเป้าหมายด้านสุขภาพร่างกาย เสริมการทำงานของร่างกาย และระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งกลไกเสริมคือการเชื่อมโยงแนวคิดของปราณจักระและพลังขี่เข้าไปร่วมสนับสนุนกัน จากประสบการณ์การปฏิบัติและศึกษาศาสตร์เหล่านี้ มีความเป็นไปได้ที่เชื่อมโยงกันหลายอย่าง ซึ่งจะอธิบายให้เข้าใจไปตามลำดับนะครับ ก่อนอื่น เรามาเรียนรู้กันถึงระบบสำคัญของร่างกายทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวข้างต้น แล้วคุณจะเห็นความเป็นไปได้ที่ศาสตร์โบราณปราณวิถี มีความเชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์กายภาพอย่างน่าทึ่งเลยทีเดียว

     การที่เราจะศึกษาศาสตร์ใดก็ตาม การตั้งคำถามและหาคำตอบเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งสำคัญ หากเราอยากเรียนพลังปราณ แต่เราไม่เข้าใจระบบการทำงานพื้นฐานของร่างกายที่สำคัญ ก็เท่ากับเราปฏิเสธความยากซึ่งยากในที่นี้ คือยากต่อการเข้าใจ เหมือนสมัยที่ผู้เขียนเข้ารับการฝึกอบรมวิชาพลังจักรวาลกับมูลนิธิแห่งหนึ่ง ในปี 2550 ที่เร่งการบรรยายแบบรวบรัดตัดตอนให้จบเร็วที่สุด และตลอดชั่วโมงของการบรรยาย เน้นไปที่พลังจิต พลังวิเศษ แต่ไม่สอนให้เข้าใจระบบกลไกการทำงานของร่างกายที่สอดรับกันเลยแม้แต่น้อย หลังจากนั้นก็เป็นการเข้าคิวไปเปิดจักระตามลำดับ

     เมื่อผู้เขียนกลับมานั่งลำดับเรื่องราวสิ่งที่ได้เรียนมาคือ ทราบถึงความหมายและตำแหน่งของจุดจักระ ทราบถึงหน้าที่ในเชิงการดูแลอวัยวะส่วนไหน รักษาโรคอะไร และได้รับการสัมผัสเพื่อเปิดจักระ เมื่อนำกลับมาฝึกต่อก็เกิดความสับสนมากมายในหัว จึงหาตารางที่เหมาะสมให้ตัวเองได้เข้าไปฝึกปฏิบัติบ่อย ๆ แต่ก็ยังได้คำตอบแบบเดิมคือสูตรการหมุน จักระแบบจินตภาพ กับการดึงลมหายใจให้สุดท้องน้อยเพียงเท่านั้น

     จนกระทั่งเมื่อเติบโตขึ้น ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าศาสตร์เกี่ยวกับปราณ พลังจักรวาล ระบบจักระ จนสามารถลำดับความสำคัญและฝึกฝนด้วยตนเอง จึงทำให้จับหลักยึดในการปฏิบัติได้อย่างไม่หลงทาง เพราะในความเป็นจริงแล้ว ศาสตร์วิถีปราณ ไม่ใช่เรื่องเข้าใจยากหรือจับต้องไม่ได้ แต่เป็นวิธีการฝึกร่วมกันระหว่างกายและจิต โดยร่างกายฝึกสองส่วนด้วยกัน คือลมหายใจและกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ส่วนจิตจะฝึกร่วมกันสองส่วนคือ ระบบประสาทและจินตภาพ เมื่อผู้ฝึกสามารถกำหนดสมาธิและผสานทั้งกายและจิตเข้าด้วยกันได้ นั่นคือแนวทางของการฝึกฝนที่จะประสบความสำเร็จขั้นพื้นฐาน และต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว

     ลำดับต่อไปคือการเรียนรู้หลักปราณพื้นฐานซึ่งแบ่งออกเป็นสองสาย คือ สายปราณจักระมุทรา และสายปราณชี่วิถีแห่งเต๋า ถ้าถามว่าสามารถฝึกร่วมกันได้หรือไม่ ผู้เขียนตอบได้จากประสบการณ์เลยนะครับว่า “ได้แน่นอน” เพราะความเชื่อมโยงบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกัน ส่วนจะสัมพันธ์กันอย่างไรทิศทางไหน เราจะได้เรียนรู้ในลำดับต่อไปครับ


สนับสนุนอาจารย์ผู้สอนโดยการสั่งซื้อหนังสือ "ปราณวิถี" สูตรลมหายใจบริหารกายจิตได้ที่นี่

พูดคุยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

สนใจหนังสือเกี่ยวกับตำนานและศาสตร์พยากรณ์ คลิกที่นี่



ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี