เทคนิคการหมุนจักระที่เจ็ด สหัสราระ/สหัสธาร จักระมงกุฎ

 

ขั้นที่ 2 ฝึกหมุนจักระที่ 7

2.1 ลำดับการหมุนจักระ ให้เริ่มจากจักระที่ 7 เมื่อคุณฝึกฟอกปราณบริหารปอดฯ และหลอดลมสำเร็จแล้ว ให้เริ่มฝึกสมาธิปราณจักระที่ 7 คือทำทุกขั้นตอนเหมือนเดิม แต่เวลาฝึกหมุนจักระให้หลับตาเหมือนนั่งสมาธิ และเปลี่ยนให้แผ่วเบาลง ปล่อยตัวตามสบาย สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคือ เมื่อดึงลมหายใจเข้า ให้จินตภาพว่ามีรัศมีวงกลมสีม่วงกำลังหมุนเวียนไปตามเข็มนาฬิกาที่บริเวณกลางศีรษะ หมุนวนอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องเร็ว หมุนให้เราจับภาพในจินตนาการได้ว่า พลังงานจากห้วงจักรวาลกำลังไหลผ่านรัศมีสีม่วงลงมาตามลมหายใจ และไปสิ้นสุดที่บริเวณท้องน้อยเหมือนเดิม การฝึกขั้นที่สองนี้ ลักษณะมือยังคงอยู่ในท่า ฮาคินีมุทราอยู่อย่างนั้น ทำเช่นเดิมกับขั้นตอนที่ 1 ทุกประการ สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือจินตภาพที่กำหนดให้ชัดเจนที่สุด และในการจินตภาพทุกครั้ง ให้ผู้ฝึกกำหนดความรู้สึกไปอยู่บริเวณจักระดังกล่าวเสมอ เทคนิคการไล่ความรู้สึกไปตามเส้นปราณจะคุ้นเคยเมื่อทำการฝึกบ่อยครั้งขึ้น กล่าวคือ #รู้สึกว่าหมุนอยู่ตรงนั้น #รู้สึกว่าเคลื่อนจากจุดนั้นไปตามกระดูกสันหลัง #ความรู้สึกจะไล่ไปพร้อมกับลมหายใจ #เคลื่อนเข้าและออกอย่างช้า #สติจับจินตภาพ

(วิดิโอประกอบบทความ)

สำหรับจักระ 7 แนะนำว่าให้ใช้ฮาคินีมุทรา Hakini Mudra นะครับ เพราะไหลเวียนพลังจากนิ้วทั้ง 5 ได้สมบูรณ์กว่า เหมาะแก่การหมุนจักระ 7 มาก จากประสบการณ์ตรง ถ้าจะเลือกใช้ปราณมุทราสำหรับจักระ 7 ก็ไม่ผิดอะไรครับ แต่ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าปราณมุทราเหมาะแก่การทำสมาธิแบบลึกมากกว่า คือการดำดิ่งไปสู่ห้วงจักรวาล จินตภาพไปว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล ประมาณนั้น ในการหมุนจักระแนะนำฮาคินีครับผม

2.2 เมื่อลมหายใจกักอยู่ที่บริเวณท้องน้อย ให้จินตภาพว่า คลื่นพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า กำลังดูแลระบบการทำงานในร่างกาย ให้ความอบอุ่น และหมุนวนไปทั่วเรือนร่าง จังหวะนี้ ยังคงจินตภาพหมุนรัศมีสีม่วงของจักระ 7 ไปตามเข็มนาฬิกาเช่นเดิมนะครับ กักลมไว้ 3-5 วินาทีเช่นเดิม

2.3 เมื่อผ่อนลมหายใจออก เปลี่ยนจากการผ่อนออกทางปากเป็นผ่อนออกทางจมูกอย่างช้า อาจจะนับถอยหลังตามสูตรที่บางคนให้ไว้ก็ได้เช่น ดึงลมเข้า 4 วินาที กักไว้ 4 วินาที ปล่อยออก 8 วินาที สูตรนี้ก็ไม่เสียหาย แต่จากประสบการณ์แล้ว เมื่อเราฝึกจนชำนาญ จะสามารถกักลมได้นานขึ้นอีกเล็กน้อย และผ่อนลมออกได้ยาวขึ้นเล็กน้อย เช่น อาจจะ กักไว้ 5-7 วินาที และผ่อนออกทางจมูก 8-10 วินาที ก็สามารถทำได้ 

ในขณะเดียวกันที่ผ่อนลมหายใจออก ให้จินตภาพว่ารัศมีสีม่วงบนศีรษะ กำลังหมุนทวนเข็มนาฬิกา ไม่ต้องเร่งการหมุน ปล่อยตามธรรมชาติให้สอดคล้องกับการผ่อนลมหายใจ และจินตภาพซ้อนไปว่า พลังงานจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจักรวาล กำลังแผ่ออกทางศีรษะ กลับคืนสู่จักรวาลอย่างเหลือประมาณ (รับมาอย่างเต็มเปี่ยม และส่งคืนอย่างเหลือประมาณ) ขั้นตอนนี้ให้ใช้จิตเมตตานำทาง เปรียบเสมือนการแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์บนผืนโลก และเทคนิคการผ่อนลมหายใจนี้ใช้กับทุกการหมุนจักระในลำดับต่อไปด้วย ดังนั้น ต้องฝึกการหมุนจักระที่ 7 นี้ให้คล่องเสียก่อน ก่อนที่จะไปฝึกหมุนจักระขั้นต่อไป (หมุนจักระ 1 เซ็ต คือทำ 5-10 รอบเท่านั้น)

“ฝึกฌานจักระมุทรา”
2.4 ทำลักษณะเดียวกันนี้ไปเรื่อย ๆ ประมาณ 10 รอบ แล้วสลับกับการฝึกฌานจักระ นั่นก็คือสลับมาดึงลมหายใจแบบปกติไม่ต้องกักลม 3-5 วินาที ดึงลงสุดแล้วผ่อนออกสุดเหมือนการนั่งสมาธิผ่อนคลายโดยทั่วไป ต่างกันที่จินตภาพคือการเพ่งความรู้สึกว่ารับพลังเข้ามาผ่านจักระ 7 มีแสงรัศมีสีม่วงปรากฎในจินตภาพ แสงเหล่านั้นหมุนเวียนเองตามธรรมธาติ เราไม่ได้พยายามเอาจิตเข้าไปหมุนเหมือนตอนหมุนจักระ พลังเหล่านั้นไหลลงสู่ท้องน้อยจนสุด หยุดชั่วขณะหนึ่งก็ผ่อนลมออกช้า ๆ เบา ๆ เหมือนเดิม ไม่ต้องกักลมที่ท้อง เหมือนสูตรหมุน เพ่งอารมณ์ไปตามจักระที่ฝึก และสามารถฝึกได้นานตามที่คุณต้องการ หากผ่านไปแล้วสัก 10 นาที คุณจะสามารถฝึกหมุนจักระ1 เซ็ต ก็สามารถทำได้ และก่อนจบการฝึกปราณทุกครั้ง ให้ทำการฟอกปราณบริหารปอด จบแล้วอย่าพึ่งรีบลุก ให้ร่างกายผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์เสียก่อนแล้วจึงค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ

     *** ถึงแม้การกลั้นลมหายใจ หรือกักลมดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากพยายามฝึกเกร็งมากเกินไปกับคนที่ฝึกใหม่ อาจจะส่งผลให้หน้ามืด เวียนศีรษะ หรือมือเท้าชาได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่นโรคหัวใจ, โรคความดันโลหิต, โรคหอบ, โรคภูมิแพ้, โรคหลอดเลือดหัวใจ, เป็นลมพิษบ่อย หรือผู้ที่ต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการทางจิตเวช ฯลฯ เพราะระยะอาการของโรคนั้นแตกต่างกัน คุณจะต้องทำการปรึกษาแพทย์ประจำตัวของคุณเพื่อสอบถามก่อนที่จะตัดสินใจฝึกปราณวิถีในลักษณะหมุนจักระและกักลม แต่คุณสามารถฝึกในรูปแบบฌานจักระได้อย่างผ่อนคลายไม่ฝืนจนเกินไป ทำเท่าที่ร่างกายคุณตอบสนองและรู้สึกดีก็เพียงพอ ***

     แต่สำหรับนักกีฬาที่มีกิจกรรมในการกลั้นหายใจอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดเช่น นักดำน้ำ หรือนักว่ายน้ำ หรือกิจกรรมบางอย่างที่เมื่อต้องใช้ความอดทนในการทำกิจกรรม ร่างกายจะตอบสนองโดยสั่งให้คุณกลั้นหายใจชั่วขณะแบบอัตโนมัติ เหมือนที่เราจะมักพูดกันเวลาต้องการยกของหนักว่า “อ่าว .. ฮึบ” นั่นคือการที่ร่างกายสูดลมหายใจเข้าและกลั้นหายใจเพื่อยกขึ้น อาจจะเกิดจากการหายใจที่เร็วขึ้นและแรงขึ้น หลังจากนั้นกักลมหายใจไว้เพื่อเพิ่มแรง และผลการวิจัยจาก European Journal of Applied Physiology ก็แสดงให้เห็นว่านักกีฬาที่ผสมผสานการฝึกแบบเข้มข้นร่วมกับการฝึกกลั้นหายใจที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถทนทานได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

     หรือจากการศึกษาทางวิชาการของ ดร.แอนดรู เวล (Dr.Andrew Weil) นายแพทย์ชื่อดังในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญแพทย์บูรณาการ (Intergrative Medicine) กล่าวถึงเทคนิคการหายใจแบบ 4-7-8 (สูดลม 4 วินาที, กักลมไว้ 7 วินาที และผ่อนลมออกทางปาก 8 วินาที) ว่าเป็นพื้นฐานของผู้ฝึกปราณายามะในแบบโยคะ ซึ่งช่วยควบคุมลมหายใจให้ช้าลง ปรับสภาวะร่างกายได้ดีขึ้น สามารถช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น

     ถึงแม้จะมีงานวิจัยมากมายกล่าวถึงข้อดีของการฝึกกลั้นหายใจ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ฝึกจะทำอะไรที่เกินขอบเขตความพอดี ดังนั้น การฝึกในลักษณะฟอกปราณบริหารปอด และการหมุนจักระ จึงควรทำอย่างเหมาะสมสลับกับการฝึกฌานจักระ บางคนอ่านเจอบทความเรื่องกลั้นหายใจมีประโยชน์ช่วยปรับให้ร่างกายใช้ออกซิเจนน้อยลง และความคงทนต่อสภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงขึ้น จึงทำการฝึกกลั้นหายใจเป็นเวลานาน เช่น 1-3 นาที แบบนั้นอาจไม่ส่งผลดีต่อร่างกายอย่างที่คิด ดังนั้น การฝึกฝนร่างกายให้พอเหมาะพอดีกับพัฒนาการย่อมมีผลสำเร็จที่สุกงอมกว่าการเร่ง การรีบ หรือการพยายามทำเกินตัวนะครับ

ผลจากการฝึกขั้นที่ 2 : จะทำให้สมองปลอดโปร่งขึ้น คิดงาน วางแผนงาน หรือการจัดระเบียบความคิดดีขึ้น รับรู้ถึงคลื่นพลังแม่เหล็กไฟฟ้าที่ไหลผ่านร่างกาย และส่งคืนกลับสู่จักรวาลได้ชัดเจนขึ้น


สนับสนุนอาจารย์ผู้สอนโดยการสั่งซื้อหนังสือ "ปราณวิถี" สูตรลมหายใจบริหารกายจิตได้ที่นี่

พูดคุยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

สนใจหนังสือเกี่ยวกับตำนานและศาสตร์พยากรณ์ คลิกที่นี่


ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี