จักระ คืออะไร เชื่อมโยงการทำงานของร่างกายอย่างไร

 

จักระคืออะไร

     จักระทั้ง 7 เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างขุมพลังในห้วงจักรวาล เป็นเสมือนกุญแจเปิดประตูทางผ่านระหว่างพลังเหล่านั้น การฝึกปราณจักระ ที่จะกล่าวถึงนี้ จะเชื่อมโยงกับมุทราให้เป็นท่าร่างร่วมกับการฝึก ด้วย “มุทรา” (Mudra) แปลว่า ตราประทับ หรือสัญลักษณ์ กล่าวคือ ท่ามือที่ใช้เพื่อกระตุ้นสภาวะจิต เป็นวิถีเก่าแก่ของศาสตร์อินเดียโบราณ มีจำแนกออกไปอีกหลายสายจากพื้นฐานความคิดเดียวกัน แต่อาจจะเกิดการนิยามความหมายใหม่ก็เป็นไปได้

(คลิปวิดิโอประกอบบทความ)


     เรามาทำความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับระบบของจักระกันบ้าง โดยจุดจักระทั้ง 7 เหล่านี้ จะหมุนวนเป็นศูนย์ควบคุมในตำแหน่งที่สำคัญต่อระบบร่างกาย ไล่ไปตามลำดับของระบบประสาทส่วนกลาง (CNS) ทอดผ่านแนวเดียวกับกระดูกสันหลัง และทำงานร่วมกันระหว่างสมองกับไขสันหลัง อันเป็นศูนย์ประมวลผลของร่างกาย โดยที่สมองทำหน้าที่ควบคุมการทำงานส่วนใหญ่ ได้แก่ การรับรู้, การเคลื่อนไหว, การคิด, การพูด และประสาทสัมผัสทั้ง 5 ส่วนไขสันหลังเป็นส่วนขยายของสมอง ประกอบด้วยเซลล์ประสาทหลายล้านเซลล์ และทำหน้าที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าจากก้านสมองไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย รวมถึงการส่งข้อมูลจากประสาทสัมผัสทั่วร่างกายกลับไปที่สมองอีกด้วย ดังนั้น แนวคิดพลังจักระวาลจะเหมือนกับการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง นั่นก็คือ รับพลังจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในห้วงจักรวาลผ่านกลางศีรษะ ส่งผ่านพลังไปสู่จุดสำคัญทั้ง 6 จุด และส่งพลังกลับคืนไปสู่ศีรษะ แผ่กลับคืนไปสู่จักรวาล ข้อสังเกตก็คือ จักระทั้ง 7 เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างขุมพลังในห้วงจักรวาล เป็นเสมือนกุญแจเปิดประตูทางผ่านระหว่างพลังเหล่านั้น

จักระทั้ง7ประกอบไปด้วย
จักระ 1 มูลธาร (Muladhara)
     เรียกว่าจักระราก หรือ Root Chakra สัญลักษณ์แทนคือดอกบัว 4 กลีบ สีแดง ตำแหน่งอยู่ตรงกลางฝีเย็บระหว่างอวัยวะเพศและทวารหนัก เป็นขุมพลังของแต่ละชีวิต ทำหน้าที่ดูดซับพลังงานจากงูไฟ หรือกุณฑาลินี ที่ผุดขึ้นมาจากใจกลางโลกและแผ่ขึ้นมาบนผืนดินบริเวณที่มีความร้อนเช่น ภูเขาไฟ น้ำพุร้อน หรือผ่านต้นไม้ใหญ่ขึ้นมาก็เป็นได้ กล่าวกันว่า เวลาที่เรามีเรี่ยวแรงทำอะไรอย่างมหาศาล เช่น ตกใจบ้านไฟไหม้แล้วยกตู้เย็นคนเดียวได้ หรือ วิ่งหนีอะไรสักอย่างได้เป็น 10 กิโล เพราะคิดว่าเห็นผี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพลังกระตุ้นจากมูลธารจักระทั้งสิ้น จักระนี้ดูแลโครงสร้างกระดูกของร่างกาย, เส้นผม, เล็บมือ, เล็บเท้า, เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ เป็นรากฐานพลังงานของอวัยวะทั้งหมด 

ในความเชื่อมโยงของมุทราตะวันออก จักระ 1 อยู่ที่บริเวณข้อมือ (ภาพตัวอย่าง อนันตมุทรา Ananta Mudra) เสมือนว่าข้อมือคือฐานรากของจักระที่เหลือ เป็นขุมพลังที่จะส่งพลังไปใช้ในยามที่ร่างกาย หรือจิตของผู้ฝึกต้องการใช้มัน หากควบคุมพลังส่วนของจักระที่ 1 ได้ ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายของการฝึกได้รวดเร็วขึ้น แต่ก็ยังเน้นย้ำเหมือนเดิมว่า หากใครคิดจะฝึกเพื่อไปรักษาผู้คน หากเป็นการบำบัดทางจิตใจ เพิ่มพลังใจ แบบนั้นแนะนำให้ทำ แต่ถ้ารักษาโรคชนิดอื่น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เท่านั้น 

จักระที่ 2 สวาธิษฐาน (Swadhisthana)
     เรียกว่า จักระศักดิ์สิทธิ์ หรือ Sacral Chakra สัญลักษณ์คือดอกบัว 6 กลีบ สีส้ม อยู่ตำแหน่งใต้สะดือเหนืออวัยวะเพศตัดไปถึงปลายสุดก้นกบ เป็นศูนย์กลางของอารมณ์ ความทะยานอยาก ความต้องการที่ไม่ผ่านการขัดเกลา ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์ มดลูก รังไข่ ช่องคลอด อัณฑะ ท่อปัสสาวะ อวัยวะเพศ ทวารหนัก ทวารเบา (ปัสสาวะ)

ในความเชื่อมโยงของมุทราตะวันออก จักระ 2 อยู่ที่ปลายนิ้วโป้ง ตรงนี้พอให้เราจับจุดได้แล้วนะครับว่า การผสานมือขวาทับมือซ้าย นิ้วโป้งจรดกันตามแบบสมาธิพื้นฐานที่เราคุ้นเคยก็มีแนวคิดมาจากมุทราสูตรนี้ เรียกว่าธยานมุทรา Dhyana Mudra เชื่อกันว่าจะช่วยให้มีกำลังในการเผชิญและเอาชนะอุปสรรคได้ เป็นท่าร่างการฝึกสมาธิเพื่อค้นพบเส้นทางแห่งจิตวิญญาณในแง่ของการฝึกปราณ นิ้วโป้งคือรากฐานของการแสวงหาความรู้ และเป็นการควบคุมสภาวะร่างกายให้นั่งสมาธิได้นานยิ่งขึ้น หากขุมพลังคือจักระ 1 แล้ว จักระที่ 2 ก็จะทำหน้าที่ในการดึงเอาพลังเหล่านั้นมาใช้ เป็นความต้องการกระทำหรือต้องการใช้งานในพลังดังกล่าวด้วยตัวผู้ฝึกเอง หรือเป็นการกรอกข้อมูลความต้องการ แรงผลักดัน สิ่งเร้าที่เกิดขึ้นลงไปที่จักระ 2 แล้วจักระ 1 ทำงานตอบสนองอัตโนมัติก็ว่าได้

จักระที่ 3 มณีปุระ (Manipura)
     เรียกว่า จักระแสงอาทิตย์ หรือ Solar Plexus Chakra สัญลักษณ์คือดอกบัว 10 กลีบ สีเหลือง ตำแหน่งบริเวณบั้นเอว ตรงกับแนวสะดือ ดูดซับพลังงานจากดวงอาทิตย์ และกระจายพลังที่ได้รับออกไปยังอวัยวะต่าง ๆ เป็นขุมพลังการเผาผลาญพลังงานและเป็นจุดศูนย์กลางของร่างกาย ควบคุมการทำงานของ ท้อง ตับ ไต ม้าม ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร ลำไส้ ระบบการย่อยอาหารและการขับถ่าย รวมถึงระบบเผาผลาญพลังงานไปสู่ร่างกายอีกด้วย 

ในความเชื่อมโยงของมุทรา จักระ 3 อยู่ที่ปลายนิ้วกลาง หมายถึง การบำบัดรักษา ความอุดมสมบูรณ์ การโปรดสัตว์ และความเจริญในโภคทรัพย์สมบัติ มุ่งเน้นไป ที่การฝึกเพื่อสุขภาพร่างกายอีกด้วย ท่านี้จะตรงกับชูนิมุทรา Shuni Mudra บางตำราก็เรียกอากาศมุทรา Akasha Mudra ถ้าเปรียบจักระรากเป็นขุมพลังที่ยิ่งใหญ่ภายในกายมนุษย์ และจักระศักดิ์สิทธิ์เป็นความต้องการที่จะดึงเอาพลังงานเหล่านั้นมาใช้ ดังนั้นจักระแสงอาทิตย์ก็เปรียบเสมือนเครื่องจักรเติมพลังงาน เมื่อการย่อยอาหารและสารอาหารที่ได้จะถูกลำเลียงจากลำไส้เล็กไปสู่หลอดเลือดและท่อน้ำเหลือง เพื่อหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย แน่นอนว่า หากระบบเผาผลาญดี ก็จะเสริมสร้างให้จักระรากแข็งแรงตามไปด้วย จักระแสงอาทิตย์เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบขับเคลื่อนให้ร่างกายมีชีวิตไม่ต่างจากลมหายใจเลยทีเดียว ระบบเมตาบอลิซึม (Metabolism) ซึ่งก็คือปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ของร่างกาย เพื่อเปลี่ยนอากาศให้เป็นพลังงาน Adenosine Triphosphate (ATP) และพลังงานเหล่านี้จะถูกนำไปใช้เพื่อการหายใจ, ใช้ในระบบหมุนเวียนโลหิต, การย่อยอาหาร, การซ่อมแซมและสร้างเซลล์ใหม่, ควบคุมการทำงานของฮอร์โมนและอุณภูมิของร่างกาย เป็นต้น อีกทั้งระบบเผาผลาญเมตาบอลิซึมยังทำงานตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย พลังงาน ATP ที่ถูกเก็บสะสมในกล้ามเนื้อแต่ไม่มากนัก หากร่างกายมีการเรียกใช้ก็จะหมดไปและเซลล์จะต้องสร้าง ATP ใหม่ทดแทน

จักระที่ 4 อนาหตะ (Anahata)

     เรียกว่า จักระหัวใจ หรือ Heart Chakra สัญลักษณ์คือดอกบัว 12 กลีบ สีเขียว อยู่ตำแหน่งกลางกระดูกสันหลังแนวเดียวกับหัวใจตัดผ่านมากลางหน้าอก เป็นขุมพลังแห่งความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ความรู้สึกปลอดภัย การให้อภัย ควบคุมการทำงานของหัวใจ ส่วนหนึ่งของการหายใจ มีคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับความรัก ความร่าเริง ความสุข

ในความเชื่อมโยงของมุทรา จักระ ๔ อยู่ที่ปลายนิ้วก้อย ดังนั้น การจรดนิ้วโป้งกับนิ้วก้อยในลักษณะนี้ หมายถึง การสื่อสารบนพื้นโลกทุกชนิด เช่น จิตวิญญาณ พลังงานรอบตัว สัตว์ ต้นไม้ หรือมนุษย์ทั่วไปก็ตาม ท่วงท่ามุทรานี้ก็คือ “วรุณมุทรา” ตามที่ได้แสดงไปแล้วในจักระ 2 จักระหัวใจจะเชื่อมโยงกับระบบการทำงานดังที่อธิบายไปแล้วเกี่ยวกับระบบหายใจ ที่จะต้องมีการสูบฉีดเลือดดีไปเลี้ยงเซลล์อวัยวะ และส่งผ่านเลือดที่พร่องออกซิเจนกลับไปสู่ปอด หัวใจเปรียบเสมือนธนาคารเลือดภายในร่างกาย มีหน้าที่ในการเปลี่ยนถ่ายแก๊สผ่านหลอดเลือด สูบฉีดไปหล่อเลี้ยงทั่วทุกอวัยวะ อนาหตะจักระหัวใจ จึงมีหน้าที่ดึงพลังงานในจักรวาลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ สร้างความรัก ความเมตตา เป็นบ่อเกิดแห่งความสามัคคี รวมถึงระบบไหลเวียนโลหิตที่ดีขึ้น

จักระที่ 5 วิสุทธิ (Vishuddha)
     เรียกว่า จักระคอ หรือ Throat Chakra สัญลักษณ์คือดอกบัว 16 กลีบ สีฟ้า อยู่บริเวณตำแหน่งกระดูกต้นคอตัดมาที่ลำคอเหนือกล่องเสียง ควบคุมระบบทางเดินหายใจ เซลล์ผิวหนัง ต่อมไทรอยด์ คอ ปาก ลิ้น หลอดลม ไซนัส

ในความเชื่อมโยงของมุทรา จักระ 5 อยู่ที่ปลายนิ้วชี้ ดังนั้น การจรดนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ หมายถึง การกระตุ้นปัญญาเพื่อช่วยเสริมสร้างสมาธิ ท่ามือนี้จะตรงกับฌานมุทรา และวิตรรกมุทรา Vitarka Mudra ในท่วงท่าที่พระหัตถ์ขวาของปางแสดงธรรมแสดงมุทรานี้ กล่าวกันว่า หากจักระนี้ทำงานอย่างสมบูรณ์ จะทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ส่งผลต่อการพูด การสื่อสาร กล่องเสียง การหายใจ บำบัดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และเสริมสร้างบุคลิกภาพภายนอกอย่างมาก วิสุทธิจักระ จะเปิดรับพลังจักรวาลเพื่อเปิดระบบดูแลอวัยวะที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้น รวมถึงจักระคอนี้ยังเป็นตัวกำหนดเส้นปราณ เป็นองค์ประกอบ ในการฝึกที่สำคัญ รวมถึงเป็นระบบหล่อเลี้ยงชีพที่ทำงานอัตโนมัติตลอด 24 ชม. อีกเช่นเดียวกัน และจุดสังเกตคือ จักระ 5 กับจักระ 4 จะทำงานร่วมกันเหมือนระบบการหายใจแลกเปลี่ยนแก๊สของมนุษย์ตามสรีรวิทยาเบื้องต้นที่ได้อธิบายไปแล้ว ซึ่งแนวคิดเหล่านี้จะมีผลเรื่องลำดับการฝึกฝนปราณจักระเป็นอย่างมาก และเป็นเรื่องที่ผู้ฝึกฝนอีกมากยังไม่รู้ แต่เมื่อคุณได้อ่านตำราเล่มนี้ จะทำให้คุณรู้ก่อน ฝึกได้ก่อน เห็นผลด้วยตนเอง

จักระที่ 6 อาชณะจักระ (Ajna)
     เรียกว่า จักระตาที่สาม หรือ Third Eye Chakra สัญลักษณ์คือดอกบัว 6 กลีบ สีน้ำเงินคราม ตำแหน่งอยู่ศูนย์กลางหน้าผากระหว่างคิ้วทั้งสอง หรือตำแหน่งตาที่สาม ควบคุมการทำงานของสมองส่วนหลังและระบบปราสาท การรับรู้ด้วยการมองเห็น และการได้ยิน คือการฝึกเกี่ยวกับสัมผัสที่ 6 สามารถมองเห็นในสิ่งที่ตาเนื้อมองไม่เห็นหรือจิตสัมผัส จักระนี้หลายคนเข้าใจผิด พยายามเพ่งจิตสร้างจินตภาพไปสู่จุดกึ่งกลางหน้าผาก ซึ่งนั่นไม่ใช่จุดศูนย์รวมพลังของจักระ 6 นะครับ จุดที่ต้องเพ่งคือบริเวณที่ท้ายทอยตัดมาสู่หว่างคิ้ว ตั้งอยู่ตรงสมองส่วนหลัง

ในความเชื่อมโยงของมุทรา จักระ 6 อยู่ที่ปลายนิ้วนาง ดังนั้น การจรดนิ้วโป้งกับนิ้วนางแบบนี้ หมายถึงการสื่อสารกับองค์ความรู้นอกโลก (หอสมุดแห่งจักรวาล) หรือการเชื่อมโยงพลังต่อคุรุภายใน การหยั่งรู้พิเศษและการเกิดจิตเหนือสำนึก การกระตุ้นจิตใต้สำนึกและปลุกตาที่สาม

จักระที่ 7 สหัสธาร (Sahasrara)
     เรียกว่าจักระมงกุฎ หรือ Crown Chakra สัญลักษณ์คือดอกบัว 1,000 กลีบ สีม่วงตำแหน่งอยู่กลางกระหม่อมศีรษะ สัมพันธ์กับจิตใต้สำนึก ตำราฮินดูเชื่อว่าเป็นจุดศูนย์กลางสูงสุดที่ใช้เชื่อมต่อกับเทพเจ้า ทำหน้าที่ดูดซับพลังงานจากห้วงจักรวาล หรือพลังศักติตามความเชื่อ และส่งผ่านกระจายไปทั่วร่างกาย ควบคุมการทำงาน และการสั่งการของสมองส่วนกลาง

ในความเชื่อมโยงของมุทรา จักระ 7 อยู่กลางฝ่ามือ สามารถใช้ฮาคินีมุทรา Hakini Mudra ในการฝึกบริหารจักระมงกุฎได้ เพื่อเสริมสร้างการทำงานของสมอง ความทรงจำ ปรับสมดุลของสมองซีกขวาและซีกซ้าย สำหรับจักระที่ 7 นี้ ทำหน้าที่ไม่ต่างจากสมองส่วนกลางดังที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยที่จักระมงกุฎแห่งนี้ ไม่จำเป็นต้องฝึกหมุนจักระมากมายนัก เพราะ เป็นจักระที่ต้องใช้งานทุกครั้ง แม้กระทั่งในสูตรของการรักษาโรค ก็จะเริ่มต้นจากจักระ 7 แทบทั้งหมด ยกเว้นโรคเฉพาะทางบางอย่างเท่านั้น และในตำราเล่มนี้ ผู้เขียนไม่ได้ระบุวิธีการนำพลังจักรวาลไปรักษาโรคมาเป็นเทคนิคในการนำไปใช้งานให้แต่อย่างใดนะครับ เนื่องจากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลไป ใครฝึกสายปราณจักระแล้วอยากนำไปรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้คนอื่น ก็ต้องเตรียมพร้อมรับแรงกระแทกจากสังคมให้ดีด้วยนะครับ อยากให้พิจารณาเหตุผลด้วยว่า ถ้าการรักษาคนมันจะง่ายดายและทำกันได้ขนาดนั้น นับแต่โบราณจะมีศาสตร์การแพทย์ทำไมให้ยุ่งยาก ไหนจะสมุนไพร ไหนจะสูตรการบำบัด แล้วยังสืบทอดมาสู่ยุคปัจจุบันให้วงการแพทย์ต้องทำงานเหนื่อยยากแสนเข็ญ คนโบราณฝึกปฏิบัติไม่ว่าจะสายปราณ สายสมาธิได้สมบูรณ์กว่าคนยุคเรา เนื่องด้วยธรรมชาติและวิถีชีวิตที่ไม่วุ่นวายเหมือนพวกเรา แต่ทำไม วิธีการรักษาถึงพึ่งมาพูดถึงหลังปี พ.ศ.2400


สนับสนุนอาจารย์ผู้สอนโดยการสั่งซื้อหนังสือ "ปราณวิถี" สูตรลมหายใจบริหารกายจิตได้ที่นี่

พูดคุยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

สนใจหนังสือเกี่ยวกับตำนานและศาสตร์พยากรณ์ คลิกที่นี่



ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี